'โทรีเซน'นำไอทีเพิ่มศักยภาพเรือขนส่ง

กลับหน้าข่าว 12 กุมภาพันธ์ 2551

บริษัทเดินเรือ "โทรีเซนไทย" ทุ่ม 100 ล้าน จ้างเมโทรวางระบบไอทีบนเรือขนส่งสินค้ารายแรกของไทย หนุนศักยภาพระบบสื่อสารระหว่างเรือ-ภาคพื้นดิน ดันรายได้องค์กรเพิ่มกว่า 8 พันล้านบาท เผยแผนแฟส 2 อัดฉีดงบเพิ่มอีกเหยียบ 100 ล้านบาทเชื่อมระบบพอร์ทัล ต่อติดลูกค้าใหม่ทั่วโลก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนซีส์ บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือรายใหญ่ กล่าวว่า บริษัทให้บมจ.เมโทร ซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ออกแบบระบบไอทีติดตั้งบนเรือขนส่งสินค้า 43 ลำ เป็นรายแรกในไทย ด้วยงบประมาณติดตั้งระบบ 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับ-ส่งข้อมูลการเดินเรือระหว่างสำนักงาน และเรือแต่ละลำ

ระบบดังกล่าวติดตั้งเครื่องแม่ข่าย และระบบอินเทอร์เฟซ ที่ลูกเรือสามารถบริหารจัดการได้เอง โดยไม่ต้องจ้างพนักงานไอทีเพิ่ม จากเดิมบริษัทใช้ระบบแมนนวลส่งข้อมูลจากเรือไปยังสำนักงานภาคพื้นดิน ผ่านดาวเทียมอีริเดียมความเร็วส่งข้อมูลต่ำมากราว 9.6 เค และระบบงานค่อนข้างซับซ้อน

ขณะที่ระบบใหม่ใช้เทคโนโลยีที่ออกแบบมาเฉพาะ ช่วยเพิ่มความเร็วการรับ-ส่งข้อมูล และยังเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของลูกเรือแต่ละคนได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่า การวางระบบไอทีครั้งนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ของบริษัท 30-40% หรือเป็นมูลค่าราว 7-8 พันล้านบาท จากรายได้รวม 2.13 หมื่นล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา

"ธุรกิจเดินเรือส่วนใหญ่ไม่นิยมติดตั้งระบบไอทีบนเรือ เนื่องจากต้องอาศัยการออกแบบเฉพาะสำหรับการใช้งานช่วงที่เรืออยู่กลางทะเล และยังต้องใช้งบลงทุนสูง ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการโซลูชั่นไอทีรายใดที่มีระบบสำหรับการใช้งานสื่อสารระหว่างเรือเดินทะเล และสำนักงานภาคพื้นดิน" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว

นอกจากนี้ หากการนำระบบไอทีมาใช้บนเรือขนส่งสินค้าทางทะเลประสบความสำเร็จด้วยดี บริษัทเตรียมจะใช้เป็นต้นแบบสำหรับธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัท เมอร์เมด ซึ่งเป็นธุรกิจนอกชายฝั่งในเครือของโทรีเซนไทย

ด้านนายอรุณ ต่อเอกบัณฑิต กรรมการบริหาร บมจ.เมโทร ซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เฟสแรกเน้นวางระบบโครงสร้างพื้นฐานบนเรือทั้งหมดให้สามารถรายงานข้อมูลจากเรือไปยังสำนักงานภาคพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องแม่ข่ายธิน ไคลเอนซ์ จากไอบีเอ็ม จำนวน 132 เครื่อง และซอฟต์แวร์ด้านการดำเนินงานของเรือเดินทะเล "เอ็นเอส5" และ "ไอมอส" ซึ่งขณะนี้ติดตั้งแล้ว 9 ลำ และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ครบ 43 ลำ ภายในเดือน เม.ย.นี้

ส่วนแผนงานเฟสที่ 2 จะทำระบบพอร์ทัลเชื่อมกับเอเยนซีต่างๆ ทั่วโลก เพื่อใช้ระบบไอทีขยายตลาด และเพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่ให้โทรีเซนไทย ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มอีกเกือบ 100 ล้านบาท

"ดีลครั้งนี้ถือเป็นมาสเตอร์ พีซ ของบริษัท เนื่องจากไม่เคยให้บริการโซลูชั่นบนเรือ ซึ่งท้าทายสูงด้านการออกแบบระบบที่ต้องการความเสถียรมาก และไม่มีคนไอทีประจำทุกลำ แต่มั่นใจได้ เพราะมีเซิร์ฟเวอร์ 2 เครื่องบนเรือแต่ละลำเป็นแบ็คอัพกัน หากกรณีเกิดปัญหา เรือยังสามารถเทียบท่า และใช้บริการศูนย์บริการของไอบีเอ็มได้ทั่วโลก" นายอรุณ กล่าว

พร้อมระบุถึงปีที่ผ่านมาว่า เมโทรมีรายได้เพิ่มขึ้น 15% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากบริษัทเอกชน ขณะที่ลูกค้าภาครัฐไม่มีการใช้งานงบด้านไอทีเลย และปีนี้คาดจะมียอดเติบโตราว 10% ซึ่งจะเน้นสร้างการเติบโตจากฐานลูกค้าเก่า 80% อีก 20% จะขยายฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักคือ แมนูแฟคเจอริ่ง และสถาบันการเงิน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น บริษัทเดินเรือ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551