TTA ฟอร์มเจ๋ง โชว์ผลกำไรไตรมาสสอง 1,291.86 ล้านบาท ใจดีควักกระเป๋า 483 ล้านบาท เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล หุ้นละ 0.75 บาท เหตุค่าระวาง-ตลาดประเทศจีนแข็งแกร่งต่อเนื่อง พร้อมแต่งตั้งนายศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ เป็นกรรมการแทนนายเสฐียร เตชะไพบูลย์ หลังยื่นลาออกมีผล 15 พ.ค.นี้
ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติรับรองงบการเงินประจำไตรมาส 2 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2550 และมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานงวดระยะเวลา 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2550 จำนวนหุ้นละ 0.75 บาท ให้แก่หุ้นสามัญจำนวน 643,684,422 หุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 483 ล้านบาท ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เวลา 12.00 น. โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550"ที่ผ่านมา TTA ได้จ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยในงวดปี 2549 บริษัทได้จ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 1.35 บาทและในปี 2550 บริษัทยังจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น ในไตรมาส 2 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,291.86 ล้านบาท โดยรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 270.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2549 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,051.78 ล้านบาท โดยรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 487.20 ล้านบาท" ม.ล. จันทรจุฑากล่าว
การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิมีสาเหตุหลักจากอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้นและค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น หากวิเคราะห์จากส่วนงานธุรกิจหลักทั้งสามประเภท ได้แก่ ธุรกิจเดินเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง ธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ จะเห็นได้ว่า ทุกส่วนธุรกิจมีการเติบโตทางกำไร โดยในส่วนธุรกิจเดินเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง มีผลกำไรสุทธิ 887.75 ล้านบาท ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.89 เทียบกับช่วงระยะเวลา 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (ไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2550) และไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2550
อัตราค่าระวางเรือในไตรมาสที่ 2 เท่ากับ 14,453 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวันต่อลำ เทียบกับ 12,789 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวันต่อลำ ในไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2550 แม้ว่าจำนวนวันเดินเรือจะลดลงจาก 4,140 วัน ในไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2550 เป็น 4,027 วันในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2550 มีปริมาณทั้งสิ้น 6.4 ล้านตัน
ขณะเดียวกันประเทศจีนยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง โดยยังคงมีการนำเข้า เช่น แร่เหล็ก ถ่านหิน และธัญพืช ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการนำเข้าสินค้าต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ประเทศจีนยังส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากจำนวน 29.5 ล้านตัน ในปี 2548 เป็นจำนวน 54.5 ล้านตัน ในปี 2549
สำหรับงานธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีผลประกอบการที่ดีเช่นกัน ทั้งนี้ ส่วนงานเรือขุดเจาะ (drilling segment) สามารถสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่กลุ่มบริษัท เมอร์เมด ประมาณร้อยละ 45.76 และ 69.51 ตามลำดับ ของรายได้และผลกำไรทั้งหมดของกลุ่มบริษัท เมอร์เมด
"ตลาดเรือขุดเจาะยังคงมีความแข็งแกร่งทุกประเภทและทุกชนิดที่เป็นเรือขุดเจาะที่เคลื่อนย้ายได้ (mobile offshore drilling units) ความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้นไม่มีผลกระทบต่ออุปสงค์ของบริษัทผู้ค้าน้ำมันในการใช้บริการเรือขุดเจาะนอกชายฝั่ง นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีการสั่งต่อเรือขุดเจาะใหม่หลายลำ แต่อัตราค่าเช่าเรือขุดเจาะก็ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว กลุ่มบริษัท เมอร์เมด มีส่วนแบ่งรายได้ให้กับบริษัทฯ จำนวน 1,012.05 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้กับบริษัทฯ (หลังจากหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เท่ากับ 153.14 ล้านบาท โดยไม่รวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ในด้านธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือนั้น มีส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้กับบริษัทฯ (หลังจากหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เท่ากับ 40.65 ล้านบาท โดยไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยที่ บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง เอฟแซดอี มีส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทฯ สูงสุด รองลงมา ได้แก่ บริษัท เฟิร์นเล่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีรายได้จากค่านายหน้าและมีผลกำไรเพิ่มขึ้น ตามภาวะตลาดเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งนาย ศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ ดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการอิสระ แทนนายเสฐียร เตชะไพบูลย์ กรรมการและกรรมการอิสระ ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ทั้งนี้นายศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการอิสระแทน นายเสฐียร เตชะไพบูลย์ ตามวาระที่เหลืออยู่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งไปจนถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2551
ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวเพิ่มว่า นายศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการกำหนดค่าตอบแทนของ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าตรวจสอบภายในของ บริษัท จีอี มันนี่ ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) และเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ นายศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ ยังมีประสบการณ์การทำงานทางด้านการธนาคารและการเงินระหว่างประเทศในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในธนาคาร เอเชีย จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
"คณะกรรมการบริษัทฯ เชื่อว่าประสบการณ์ทำงานที่กว้างขวางของ นายศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ จะเอื้อประโยชน์ต่อแผนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว