TTA ยิ้มรับผลประกอบการไตรมาส 4 กำไรสุทธิ 1,159.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.50% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากค่าระวางเรือและอัตราค่าเช่าเรือในธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจบริการนอกชายฝั่งยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองยังสดใสในปี 2551 บิ๊ก TTA เผยมีสัญญาล่วงหน้าในปี 2551 ร้อยละ 21.01 ของระวางบรรทุกสินค้าทั้งหมดของบริษัทฯ
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยว่า บริษัทมีผลกำไรประจำไตรมาส 4 ปี 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 จำนวน 1,159.16 ล้านบาท โดยรวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 78.90 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 34.50% ที่มีกำไรสุทธิ 861.83 ล้านบาท โดยรวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 160.82 ล้านบาท
สำหรับผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจาก อัตราค่าระวางเรือและการใช้เรือที่อยู่ในระดับสูงของตลาดในธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และตลาดในธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง ซึ่งหักกลบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น (ส่งผลให้รายรับที่เป็นเงินบาทนั้นลดลง) ผลการดำเนินงานของธุรกิจขุดเจาะน้ำมันที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ และการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพนักงาน
ธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมีกำไรสุทธิ 1,143.86 ล้านบาท ไม่รวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยสาเหตุหลักมาจากอัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราค่าระวางเรือของ บริษัทฯ และ เรือที่เช่ามาเสริมกองเรือเพิ่มเติมเพิ่มขึ้นเป็น 18,082 ดอลลาร์สหรัฐอเมริการต่อวันต่อลำในไตรมาสที่ 4 ของปีบัญชี 2550 เทียบกับ 16,550 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวันต่อลำใน ไตรมาส 3 ปี 2550 หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.20
สำหรับส่วนงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือนั้นมีส่วนแบ่งผลขาดทุนสุทธิให้กับ บริษัทฯ (หลังจากหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เท่ากับ 3.50 ล้านบาท โดยไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยที่บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง เอฟแซดอี มีส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทฯ สูงสุด รองลงมา ได้แก่ บริษัท เฟิร์นเล่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเรือที่เข้ารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้น และสามารถหาสินค้าเพื่อขนส่งเพิ่มขึ้น หากไม่รวมการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายของผลประโยชน์แปรผันของพนักงานแล้ว ส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิ (หลังหักส่วนผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.03 ระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปีบัญชี 2550 กับไตรมาสที่ 4 ของปีบัญชี 2550
ธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุด 30 กันยายน พ.ศ. 2550 (รอบ 12 เดือน) กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีรายได้รวม เท่ากับ 4,039.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 2549 เท่ากับ ร้อยละ 42.50 และมีส่วนแบ่งกำไรให้แก่บริษัทฯ ในปี 2550 เท่ากับ 453.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับ ร้อยละ 16.20
ส่วนงานขุดเจาะทำรายได้และผลกำไรให้กับธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง คิดเป็นร้อยละ 30.0 และร้อยละ 16.9 ของรายได้และผลกำไรรวมของธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่งตามลำดับ สำหรับส่วนงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำนั้น สินทรัพย์ในส่วนธุรกิจวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ มีอัตราการใช้ประโยชน์จากเรือสูงถึงร้อยละ 77 ในรอบปีบัญชี 2550 และสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่ธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง ประมาณร้อยละ 69.4 และร้อยละ 98.6 ตามลำดับของรายได้และผลกำไรทั้งหมดของธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง ซึ่งผลประกอบการที่ดีของส่วนธุรกิจวิศวกรรมโยธาใต้น้ำมาจากอัตราค่าเช่าเรือที่สูงขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี และอัตราการใช้ประโยชน์จากเรือที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งกองเรือ ซึ่งอัตราการใช้ประโยชน์จากเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2551 "พื้นฐานของกลุ่มธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่งมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และน่าจะไปได้ดีในปี 2551 หากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยแล้ว ในไตรมาสที่ 4 ของรอบปีบัญชี 2550 นี้ นับว่า เป็นอีกไตรมาสหนึ่งที่มีผลกำไรสุทธิสูงขึ้นของบริษัทฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากกลยุทธ์การกระจายส่วนงานธุรกิจของบริษัทฯ (diversification strategy) และความแข็งแกร่งของทั้งธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง" ม.ล. จันทรจุฑากล่าว