บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") มีผลกำไรสุทธิ เท่ากับ 99.16 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2552 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552 แม้ว่าอุปสงค์ในการขนส่งสินค้าแห้งเทกองจะลดลงและท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานและกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2552 (1 มกราคม 2552- 31 มีนาคม 2552) เท่ากับ 4,304.90 ล้านบาท และ 99.16 ล้านบาท ตามลำดับ รายได้อื่นที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 2 นี้ คือกำไรที่ได้จากการซื้อคืนและยกเลิกหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทฯ จำนวน 131.02 ล้านบาท
"เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลง 948.53 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2552 บริษัทฯ มีเงินสดรับจากกิจกรรมการดำเนินงาน เป็นเงิน 607.04 ล้านบาท และใช้ไปในกิจกรรมการลงทุนและกิจกรรมการจัดหาเงิน เป็นเงิน 936.86 ล้านบาท และ 695.50 ล้านบาท ตามลำดับ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2552 บริษัทฯ ได้ขายเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง จำนวน 2 ลำให้กับบริษัทอื่น โดยได้รับเงินจำนวนรวมทั้งสิ้น 105.61 ล้านบาท"
"การเติบโตของกำไรสุทธิลดลง เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือของธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองลดลงมาก ดัชนีค่าระวางเรือ บอลติคได้ลดระดับลงจาก 3,025 จุด ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เหลือ 1,615 จุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 หรือลดลงร้อยละ 46.61 ปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดของบริษัทฯในช่วง 6 เดือนแรกของรอบปีบัญชี 2552 เป็นจำนวน 6.053 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 25.41"
แม้ว่าบริษัทฯได้มีความกังวลเกี่ยวกับตลาดการขนส่งสินค้าทางทะเลในปี 2552 เนื่องจากการที่มีปริมาณเรือมากเกินความต้องการของตลาดกอปรกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่บริษัทฯ สังเกตเห็นว่าดัชนีค่าระวางเรือบอลติคได้ฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อยในช่วงสามเดือนแรกของปี 2552 บริษัทฯ คาดว่าดัชนีค่าระวางเรือบอลติคจะทรงตัวอยู่ที่อัตราปัจจุบันในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยมีองค์ประกอบสนับสนุนจากปัจจัยกระตุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน โดยเกิดจากการที่รัฐบาลจีนได้สนับสนุนโครงการสาธารณูปโภค ทำให้เกิดการกระตุ้นการนำเข้าเหล็ก ปัจจัยเชิงบวกอื่นๆ ที่ช่วยพยุงอัตราดัชนีค่าระวางเรือบอลติคคือ การยกเลิกเรือสั่งต่อใหม่และการขายเรือเป็นเศษเหล็กมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเรือล้นตลาดได้
นอกจากนี้ การจองเรือล่วงหน้าบ่งชี้ให้เห็นว่าอุปสงค์ที่ลดลงนั้นกำลังจะอยู่ในภาวะทรงตัว แม้กระนั้นก็ตาม บริษัทฯ เชื่อว่าแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยังอยู่ในขอบเขตจำกัด บริษัทฯ จึงได้ลดกองเรือลง เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงโดยการขายเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง จำนวน 4 ลำ ให้กับบริษัทอื่นในรอบปีบัญชีปัจจุบัน และลดจำนวนวัน
เดินเรือที่เช่ามาเสริมกองเรือลงเหลือ 1,132 วัน หรือลดลงร้อยละ 32.26 จากไตรมาสที่ 1 รอบปีบัญชี 2552 ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีการขายเรือเป็นเศษซากอีกหลายลำในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า"ในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2552 เมอร์เมดมีกำไรจากการบริการ เท่ากับ 940.96 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.23 จากไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2552 และได้มีส่วนแบ่งผลขาดทุนสุทธิให้กับบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เป็นจำนวน 42.26 ล้านบาท โดยไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือลดลงร้อยละ 123.48 จากไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2552" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวเพิ่มเติม
อัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในส่วนงานธุรกิจวิศวกรรมโยธาใต้น้ำลดลงมาก ในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2552 และสร้างรายได้ร้อยละ 37.56 ของรายได้รวมของเมอร์เมด
อย่างไรก็ตาม อัตราค่าเช่าเรือเฉลี่ยรายวันยังคงสูง ในช่วงเวลาเดียวกันของปีบัญชีที่แล้วงานธุรกิจวิศวกรรมโยธาใต้น้ำลดลงเนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไป จากสถิติที่ผ่านมา เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นช่วงที่มีอัตราการใช้ประโยชน์จากเรือลดลง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนที่อัตราการใช้ประโยชน์จากเรืออยู่ในระดับสูงสุด ปริมาณงานที่ลดลงบวกกับวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกและความลังเลของลูกค้า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในยามนี้ ได้ส่งผลมาถึงเดือนมีนาคมด้วย ในแง่บวก บริษัทฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะของปริมาณงานที่ดูเป็นจริงมากขึ้น โดยเรือสนับสนุนงานประดาน้ำทั้งหมดของบริษัทฯ มีสัญญาว่าจ้างทุกลำแล้ว บริษัทฯ ยังคงเห็นภาวะผันผวนของการว่าจ้างเรือซึ่งจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปตลอดปี 2552 ในเรื่องของอัตราค่าเช่าเรือนั้น ธุรกิจวิศวกรรมโยธาใต้น้ำไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และในบางกรณี บริษัทฯ ยังได้รับค่าเช่าเรือสูงขึ้นสำหรับเรือที่มีอุปกรณ์เทคนิคที่ดีกว่าลำอื่นๆ
ส่วนงานธุรกิจขุดเจาะสร้างรายได้ร้อยละ 59.97 ของรายได้รวมของเมอร์เมด ตลาดเรือขุดเจาะนอกชายฝั่งแบบ tender ยังคงสดใส ถึงแม้จะมีบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลายแห่งได้ทำการยกเลิกหรือเลื่อนแผนงานออกไป แต่บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ได้ทำไว้แล้ว
ในช่วงไตรมาสนี้ เรือขุดเจาะเอ็มทีอาร์-1 ได้มีการต่ออายุสัญญากับ Amerada Hess ไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปีบัญชี 2552 (ซึ่งอาจจะมีการต่ออายุสัญญาออกไปอีก) เพื่อการปฏิบัติงานในประเทศอินโดนีเซีย เรือขุดเจาะเอ็มทีอาร์-2 ได้ทำสัญญากับ Chevron ประเทศอินโดนีเซีย ไปจนถึงต้นปี 2553 อัตราการใช้ประโยชน์เฉลี่ยของเรือขุดเจาะเอ็มทีอาร์-1 และเรือขุดเจาะเอ็มทีอาร์-2 ในไตรมาสนี้ เท่ากับร้อยละ 99.4
เรือขุดเจาะที่สั่งต่อใหม่ เคเอ็ม-1 กำลังสร้างอยู่ที่อู่ต่อเรือ Kencana's Lumut ในประเทศมาเลเซีย และบริษัทฯ คาดว่าจะทำการส่งมอบเรือดังกล่าวตามกำหนดในปลายปี 2552 เรือขุดเจาะลำนี้มีสัญญาว่าจ้างกับปิโตรนัสระยะเวลา 5 ปี โดยมีสิทธิที่จะต่ออายุสัญญาออกไปได้อีก โดยมีมูลค่าของสัญญาประมาณ 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
"ท่ามกลางสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในเชิงบวก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทฯ" ม.ล. จันทรจุฑากล่าว
บมจ.โทรีเซนไทยเอเยนต์ซีส์เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าแห้งเทกองโดยให้บริการขนส่งสินค้าแบบประจำเส้นทางและให้เช่าเหมาลำรวมทั้งเป็นหนึ่งในบริษัทรายใหญ่ที่ให้บริการงานนอกชายฝั่งเกี่ยวกับงานบริการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน)อีกทั้งเป็นหนึ่งใน 50 อันดับแรกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง รวมทั้งมีสภาพคล่องสูง