TTA รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2553

กลับหน้าข่าว 17 กุมภาพันธ์ 2553

(กรุงเทพฯ, 16 กุมภาพันธ์ 2553) บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) รายงานภาพรวมบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 รอบปีบัญชี 2553 (1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2552) จำนวน 65.09 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 0.09 บาท โดยเปรียบเทียบจากกำไรสุทธิ 897.13 ล้านบาทและรายได้ต่อหุ้นเท่ากับ 1.27 บาท ในไตรมาสที่ 1 รอบปีบัญชี 2552

"TTA" ประกาศรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดในไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2553 เท่ากับ 4,681.72 ล้านบาท มีรายจ่ายจากการดำเนินงานทั้งหมด เท่ากับ 4,599.29 ล้านบาท  ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2553 เท่ากับ 82.43 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 93.12 จากจำนวน 1,198.14 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อนหรือลดลงร้อยละ 87.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของรอบปีบัญชีสิ้นสุด 30 กันยายน พ.ศ. 2552 (ไตรมาสที่ 4 ของรอบปีบัญชี 2552)

สำหรับสาเหตุหลักของผลกำไรที่ลดลงครั้งนี้ของบริษัทฯ เนื่องมาจากส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากธุรกิจหลักกลุ่มขนส่งของบริษัทฯที่ลดลงอย่างมากเพราะต้องเผชิญกับภาวะอัตราค่าระวางเรือที่ลดต่ำลงรวมถึงสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองในช่วงไตรมาส1/53 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อีก 2 ธุรกิจหลักของบริษัทฯ คือ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มธุรกิจพลังงาน ยังมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่น่าพอใจและช่วยสร้างสมดุลรายได้ให้กับบริษัทฯ" 

ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 รอบปีบัญชี 2553 (1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2553) ดังนี้

ล้านบาท
ไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2553
ไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2552
เทียบเป็นร้อยละปีต่อปี
ไตรมาสที่ 4 ของรอบปีบัญชี 2552
เทียบเป็นร้อยละไตรมาสต่อไตรมาส
กลุ่มธุรกิจขนส่ง
19.92
275.95
-92.78%
204.31
-90.25%
กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
73.46
-0.97
7,673.20%
12.28
498.21%
กลุ่มธุรกิจพลังงาน
65.99
181.37
-63.62%
67.68
-2.50%
ส่วนของบริษัท1
-224.46
440.78
-150.92%
180.53
-224.33%
รวม
-65.09
897.13
-107.26%
464.80
-114.00%

หมายเหตุ: ส่วนของบริษัท1 หมายถึง TTA ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นเพื่อการลงทุนและรวมการตัดรายการระหว่างกัน

กลุ่มธุรกิจขนส่ง ประกอบด้วยธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และบริษัทที่ให้บริการงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ

" ภายใต้กลุ่มธุรกิจขนส่ง ในไตรมาส1/2553 นี้ ธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 41.39 ล้านบาท โดยไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2552 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลง 174.17 ล้านบาท และในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2552  มีกำไรสุทธิลดลงจำนวน 209.71 ล้านบาท สำหรับสาเหตุหลักของผลขาดทุนในไตรมาสนี้ เป็นผลมาจากอัตราค่าระวางของการเช่าเรือแบบระยะเวลาที่ลดต่ำลง ประกอบกับสาเหตุจากจำนวนวันเดินเรือที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของและที่บริษัทฯเช่ามาเสริมกองเรือลดลง  นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต่อวันในการเป็นเจ้าของเรือเพิ่มสูงขึ้น"ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว

"จากการที่ค่าระวางเรือที่ให้บริการแบบประจำเส้นทางลดต่ำลง มีผลทำให้กำไรของกองเรือที่ให้บริการแบบประจำเส้นทางที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา บริษัทฯจึงตัดสินใจยกเลิกการให้บริการแบบประจำเส้นทาง และสำหรับกองเรือที่ให้บริการแบบประจำเส้นทางที่ถูกยกเลิกนั้น บริษัทฯคาดว่าจะขายเรือบางลำออกไป หรือ ขายเป็นเศษเหล็ก และเรือที่เหลือจะนำไปใช้ให้บริการในลักษณะอื่นๆที่จะสร้างผลกำไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม" ม.ล.จันทรจุฑา เปิดเผย

ในไตรมาสที่ 1/2553 บริษัทฯ ได้ขายเรือทั้งหมด 3 ลำ แต่ล่าสุดได้รับมอบเรือ ทอร์ เฟรนด์ชิป ซึ่งเป็นเรือสั่งต่อใหม่ลำแรกของบริษัทฯ จากอู่ต่อเรือโอชิมาในประเทศญี่ปุ่นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรือลำนี้มีขนาดระวางบรรทุก 53, 350 เดทเวทตัน  บริษัทฯ ยังมีเรือที่สั่งต่อใหม่อีก 4 ลำ ที่มีกำหนดรับมอบภายในปลายปี พ.ศ. 2554

โดยรวมแล้ว บริษัทฯ คาดว่าดัชนีค่าระวางเรือบอลติคจะค่อยๆฟื้นตัวตัวและคงที่สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี  บริษัทฯ ก็ยังเชื่อว่าจีนจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่สำคัญในการขนส่งสินค้าแห้งเทกอง อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯ ก็เกรงว่าดัชนีค่าระวางเรือบอลติคอาจจะถูกจำกัดด้วยการรับมอบเรือสั่งต่อใหม่ที่ได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กล่าวโดยสรุป บริษัทฯ คาดการณ์ถึงตัวเลขเติบโตสุทธิของอุปทานเรือเป็นตัวเลขสองหลักในอีกปีหรือสองปีข้างหน้า

ส่วนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้กับบริษัทฯ เท่ากับ 7.40 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 91.54 เมื่อเทียบปีต่อปี และร้อยละ 85.03 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย บริษัท ยูนิคไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) ("UMS")  EMC Gestion S.A.S./ บริษัท บาคองโค จำกัด บริษัทจีเอซี โทรีเซน โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ชิดลม มารีน เซอร์วิสเซส แอนด์ ซัพพลายส์ จำกัด

"UMS" มีผลกำไรสุทธิจำนวน 4.04 ล้านบาท ในรอบสองเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และมีส่วนแบ่งกำไรให้กับผลประกอบการของบริษัทฯ 1.96 ล้านบาท   นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รวมผลประกอบการของ "UMS" ในส่วนของยอดขายและกำไรขั้นต้นของ UMS จำนวน 410.43 ล้านบาท และ 74 ล้านบาทตามลำดับเข้ามาไว้ในงบการเงินรวมของบริษัทฯ  ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2553 "UMS" ขายถ่านหินได้ประมาณ 0.24 ล้านตัน และจำนวนประมาณ 1.2 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2552

บริษัทฯ ได้รวมกำไรของ "UMS" ในไตรมาสที่ 4 ของรอบปีบัญชี 2552 ตามสัดส่วนของการถือหุ้นของบริษัทฯใน "UMS" จำนวนร้อยละ 48.46 เข้ามาไว้ในงบการเงินรวมของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2553 และจากไตรมาสที่ 2 ของรอบปีบัญชี 2553 เป็นต้นไป บริษัทฯจะรวมกำไรจาก "UMS" ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯใน "UMS" ร้อยละ 89.55 เข้ามาในผลประกอบการของบริษัทฯ

นอกจากนี้ "UMS" มีนโยบายที่จะปรับลดปริมาณถ่านฝุ่นในคลังสินค้าลงโดย "UMS" มีโครงการที่จะดำเนินการเป็นถ่านอัดก้อนเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดมากขึ้น โครงการถ่านอัดก้อนคาดว่าจะเริ่มผลิตในเดือนมีนาคม 2553 โดยมีอัตรากำลังผลิตถ่านอัดก้อนทั้งหมดประมาณ 40,000 ตัน/เดือน

สำหรับบริษัท บาคองโค จำกัด ในไตรมาสที่1/2553 มียอดขายจำนวน 706.61 ล้านบาทและมีกำไรกำไรสุทธิ 79.80 ล้านบาทให้กับกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทฯ  "เนื่องจากธุรกิจปุ๋ยเป็นธุรกิจที่มีวัฎจักรเฉพาะ ที่ส่วนใหญ่ผลตอบแทนครึ่งหลังของปีจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในครึ่งปีแรก  ทางบริษัทฯ จึงไม่ได้คาดหวังที่จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากจากการดำเนินงานของธุรกิจปุ๋ยในอีกสองไตรมาสข้างหน้าซึ่งยังคงอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้  

"บริษัทฯ ได้วางแผนไว้ว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าบาคองโคจะเริ่มให้บริการอย่างเต็มที่เกี่ยวกับคลังสินค้าและการให้บริการด้านโลจิสต์ติก โดยบาคองโคจะสามารถหาสินค้ามาวางในคลังสินค้าได้จำนวน 200,000 ตันในรอบปีบัญชี 2553 ณ เวลานี้กำไรหลักของบริษัท บาคองโค จำกัด ยังคงเป็น การขายและผลิตปุ๋ย" ม.ล.จันทรจุฑา เพิ่มเติม

กลุ่มธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วย บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ("เมอร์เมด") ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัทฯ ร้อยละ 57.14 และให้บริการงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำและบริการงานขุดเจาะ และเมอร์ตัน กรุ๊ป (ไซปรัส) แอลทีดี ถือหุ้นโดยบริษัทฯ ร้อยละ 21.18

"ในไตรมาสที่ 1/2553 บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ ("เมอร์เมด") นับเป็นบริษัทเดียวที่ได้มีส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทฯในกลุ่มพลังงาน กำไรสุทธิรวมของเมอร์เมดตามงบการเงินของเมอร์เมดในไตรมาสที่ 1 ของรอบปีบัญชี 2553 เท่ากับ 115.49 ล้านบาท และในไตรมาสนี้เมอร์เมดมีส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทฯ เท่ากับ 65.99 ล้านบาท บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส  จำกัด ("MOS") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเมอร์เมด มีส่วนแบ่งกำไรให้กับเมอร์เมด ร้อยละ 57.20 และบริษัท เมอร์เมด ดริลลิ่งค์  จำกัด ("MDL") มีส่วนแบ่งกำไรให้กับเมอร์เมดร้อยละ 2.01" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว

ในไตรมาสนี้ เมอร์เมดได้ระดมเงินทุนจำนวน 3,592.65 ล้านบาทจากการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน (right issue) เงินที่ได้จากการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจะนำไปใช้ในการรองรับแผนการขยายธุรกิจของเมอร์เมดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 "MOS" ได้มีการรับมอบเรือสั่งต่อใหม่จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือ เมอร์เมด แซฟไฟร์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และเรือเมอร์เมด เอเชียน่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553  "MOS" คาดไว้ว่าจะได้รับมอบเรือเมอร์เมดเอ็นดัวเรอร์ซึ่งเป็นเรือสั่งต่อใหม่อีกหนึ่งลำ ที่มีกำหนดรับมอบในไตรมาสที่ 3 ของรอบปีบัญชี 2553  ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าภายในสิ้นรอบปีบัญชี 2553 "MOS" จะเป็นเจ้าของเรือทั้งสิ้น 9 ลำ

ส่วนงานขุดเจาะในไตรมาสนี้สร้างรายได้ร้อยละ 24.40 ของรายได้บริการรวมของเมอร์เมด บริษัทฯยังคงมองหาโอกาสในการซื้อเรือขุดเจาะมือสองหรือเรือสั่งต่อใหม่ในตลาดโดยจะใช้เงินจากการเพิ่มทุนของเมอร์เมดที่ได้รับมาเมื่อเร็วๆนี้

"ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตของกำไรให้มีความสมดุลและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจหลักจากธุรกิจเดินเรือเพียงธุรกิจเดียว โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจเดินเรือในอีก 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าผลกำไรจากธุรกิจหลักอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินเรือจะยังมีอนาคตที่สดใสและช่วยสร้างสมดุลของผลกำไรให้กับบริษัทฯได้ในไตรมาสอื่นๆ" ม.ล.จันทรจุฑา สรุป

 

ข้อมูลเกี่ยวกับ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์
บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงติด 50 อันดับแรก  และยังเป็นบริษัทฯ ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นสูง โดยบริษัทฯ เน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในธุรกิจด้านการขนส่ง พลังงาน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งในและนอกประเทศ  ทั้งนี้  บริษัทฯ ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าแห้งเทกอง ซึ่งมีบริการครอบคลุมทั้งแบบประจำเส้นทางและให้เช่าเหมาลำ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ขยายการลงทุนออกไปในธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้มากขึ้น เช่น การลงทุนในธุรกิจการให้บริการงานนอกชายฝั่งเกี่ยวกับงานบริการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน)

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์
คุณรวิษฎา  อังคีรส หรือ คุณอรสุธี กาญจโนมัย    
Tel: 02 254 8437 ext. 393 or 290                      
Email: ravisada_a@thoresen.com OR  ornsutee_k@thoresen.com