ผลประกอบการไตรมาส 2/2553 ของ TTA ฟื้นกลับมาแข็งแกร่งดังเดิม

กลับหน้าข่าว 17 พฤษภาคม 2553

บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ("TTA") รายงานผลการดำเนินงานและผลกำไรในไตรมาสที่ 2 รอบปีบัญชี 2553 ที่ฟื้นกลับมาเป็นบวกอย่างแข็งแกร่ง พร้อมแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องไปจนสิ้นปี

ผลการดำเนินงานโดยรวม

บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ รายงานผลกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/2553 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2553) เท่ากับ 451.40 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.64 บาท เปรียบเทียบกับผลกำไรสุทธิที่ 99.16 ล้านบาท และกำไรต่อหุ้นที่ 0.14 บาท ในไตรมาสที่ 2/2552 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2552) ที่ผ่านมา

ในไตรมาส 2/2553 นี้ บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 4,561.99 ล้านบาท มีรายจ่ายจากการดำเนินงานเป็นจำนวน 4,022.24 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 539.75 ล้านบาท ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่ากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 115.31 จากจำนวน 250.68 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 554.80 เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิ 3 เดือนที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 (ไตรมาสที่ 1/2553)

"เรายังคงดำเนินตามแผนกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นในสามกลุ่มธุรกิจหลัก อันได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ธุรกิจเดินเรือสินค้าแห้งเทกองของเราสามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าผลการลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในไตรมาสนี้จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่โดยรวมยังส่งสัญญาณที่ดีสำหรับช่วงเวลาที่เหลือตลอดทั้งปี ซึ่งทำให้เรามั่นใจว่า ในระยะยาวแล้ว ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทั้งสามจะแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นภายใต้แนวกลยุทธ์ที่ได้วางไว้" ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ กล่าว

ผลวิเคราะห์ตามกลุ่มธุรกิจ

ธุรกิจหลักในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ยังคงเป็นธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง ซึ่งในไตรมาส 2/2553 นี้ สามารถสร้างผลกำไรสุทธิ (ไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) จำนวน 561.51 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 97.17 ล้านบาทของไตรมาส 2/2552 ที่ผ่านมา และผลขาดทุนสุทธิจำนวน 41.39 ล้านบาทในไตรมาส 1/2553

ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวว่า "ในไตรมาสนี้ อัตราค่าระวางเรือของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.15 จากไตรมาสที่ 1/2553 เป็น 13,180 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนี้เป็นผลมาจาก อัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น และผลดีจากการยกเลิกการให้บริการเรือประจำเส้นทาง ทำให้บริษัทฯ สามารถนำเรือไปให้บริการในภูมิภาคอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น แถบแอตแลนติค รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรือเดินทะเลของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด" ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้เงินจากการขายเรือทั้งหมด 3 ลำ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 284.82 ล้านบาท กำไรในทางบัญชีจากการขายเรือ 3 ลำนี้รวมทั้งสิ้น 91.06 ล้านบาท หรือเท่ากับ 87.06 ล้านบาทหลังหักภาษีแล้ว

สำหรับกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในไตรมาสที่ 2/2553 นี้ บาคองโคสามารถสร้างผลกำไรสุทธิ 31.83 ล้านบาท จากยอดการขายจำนวน 434.99 ล้านบาทเข้าสู่งบการเงินรวมของบริษัทฯ โดยในไตรมาสนี้ บาคองโคมียอดขายปุ๋ยทั้งสิ้น 30,710 เมตริกตัน และมียอดจองพื้นที่ในโกดังประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมดสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์

บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) ("UMS") มีผลกำไรสุทธิจำนวน 4.15 ล้านบาท (ไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงที่มาจากสัญญาล่วงหน้าและต้นทุนสินทรัพย์ที่เกิดจากดอกเบี้ยจ่าย) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนในการแบ่งผลกำไรให้กับงบของ TTA จำนวน 3.72 ล้านบาท หากนำผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกลับมา UMS จะมีผลขาดทุนสุทธิ 9.59 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ลดลงและต้นทุนค่าขนส่งที่ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง "ความต้องการถ่านหินโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมีผลทำให้ผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของ UMS ดีขึ้น" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว

ในไตรมาส 2/2553 นี้ บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ("เมอร์เมด") ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจพลังงาน มีผลขาดทุนสุทธิตามงบการเงินรวมของเมอร์เมดเท่ากับ 171.01 ล้านบาท ดังนั้น TTA จึงบันทึกผลขาดทุนสุทธิของเมอร์เมด ตามสัดส่วนเท่ากับ 97.72 ล้านบาท การขาดทุนดังกล่าวเป็นผลมาจากอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือที่ลดลง ทั้งในส่วนของงานบริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ (ร้อยละ 28.3) และงานบริการขุดเจาะ (ร้อยละ 50) ทั้งนี้ อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมโยธาใต้น้ำลดลงในไตรมาสนี้ เป็นเรื่องปกติเนื่องจากอยู่ในช่วงมรสุม ในขณะที่มีเพียงเรือขุดเจาะเอ็มทีอาร์-2 เท่านั้นที่ปฏิบัติงานได้ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเรือขุดเจาะที่ปฏิบัติงานได้ถึง 2 ลำ

ในส่วนของธุรกิจการถือหุ้น (ซึ่งรวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้น เช่น บริษัท โซลีอาโด โฮลดิ้งส์ พีทีอี แอลทีดี และบริษัท อะธีน โฮลดิ้งส์ จำกัด) ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงิน บัญชี งานทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) งานบริหารและบริการอื่นๆ โดยในไตรมาส 2/2553 ส่วนธุรกิจการถือหุ้นสามารถสร้างผลกำไรบวกจำนวน 5.80 ล้านบาทให้กับบริษัทฯ เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งติดลบเป็นเงินจำนวน 224.46 ล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักของผลบวกดังกล่าว มาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

แนวโน้ม

TTA ยังคงเชื่อมั่นในผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทั้งสามในระยะยาว

ทางด้านอุปสงค์ บริษัทฯ เชื่อว่านโยบายการนำเข้าของจีนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับสินค้าแห้งเทกองของโลก ในขณะที่อุปสงค์ของประเทศอื่นๆ ในโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ตลาดธัญพืชในแอตแลนติคใต้ได้มีการค้าขายมากขึ้น

โดยทั่วไป ราคาของถ่านหินจะปรับตัวตามแนวโน้มของดัชนี Newcastle Export Index ("NEX") ซึ่ง ดัชนี NEX มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้บริษัทฯ คาดว่าราคาขายเฉลี่ยของ UMS จะเพิ่มสูงขึ้นในอีกสองถึงสามเดือนข้างหน้าตามแนวโน้มดังกล่าว

การประมูลงานสำหรับโครงการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำและก๊าซธรรมชาติหลายโครงการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งการจองเรือของบริษัทฯ ไปจนถึงสิ้นปีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเข้าซื้อหุ้นใน Subtech เป็นการบุกเบิกตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งถ้าหากบริษัทฯ มีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในภูมิภาคอื่น นอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทฯ ก็จะพิจารณาในการเข้าไปลงทุนอีก

"ในตอนที่เราวางแผนงบประมาณสำหรับปีนี้ เราคาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เราคาดว่า ธุรกิจเดินเรือสินค้าแห้งเทกองจะยังคงสร้างผลกำไร ในขณะที่การดำเนินงานของเมอร์เมด และ UMS จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในอีกสองไตรมาสที่เหลือของปีนี้ และกลับมาสร้างผลกำไรที่เป็นบวกให้กับผลประกอบการรวมของ TTA เรายังคงค้นหาโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหวังว่าจะมีโอกาสได้ลงทุนเพิ่มอีกสองสามโครงการภายในสิ้นปีนี้" ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอย่างมั่นใจ

ข้อมูลเกี่ยวกับ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์

บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทฯ เน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในกลุ่มธุรกิจการขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ เป็นเจ้าของธุรกิจเรือสินค้าแห้งเทกอง ซึ่งให้บริการเช่าเหมาลำเป็นระยะเวลาตามความต้องการของลูกค้า และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่สนับสนุนการเดินเรือ ต่อมา บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนออกไปในธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้มากขึ้น เช่น ธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งเกี่ยวกับงานบริการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจปุ๋ยและธุรกิจคลังสินค้าผ่านบริษัท บาคองโค ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านหินผ่านบริษัท เมอร์ตันกรุ๊ป และบมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส และธุรกิจเรือบรรทุกน้ำมันผ่านบริษัท ปิโตรลิฟต์ จำกัด