TTA รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2555 เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน

กลับหน้าข่าว 12 พฤษภาคม 2555

- ถึงแม้จะขาดทุนสุทธิ 205 ล้านบาท แต่เป็นการขาดทุนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขาดทุนลดลงจากไตรมาสที่แล้วถึง  63% แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอัตราค่าระวางเรือทั่วโลกที่ตกต่ำมากในรอบ 25 ปี

- หากหักรายการพิเศษออกแล้ว  ผลขาดทุนสุทธิก็ยังปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยลดลงถึง 16%

- กระแสเงินสดช่วง 6 เดือนแรกที่เคยติดลบในปีก่อน กลับมาเป็นบวกที่ 964 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

- เห็นสัญญาณการค่อยๆ ฟื้นตัวของธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็น ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจบริการนอกชายฝั่งของเมอร์เมด และการเติบโตที่แข็งแกร่งของปิโตรลิฟต์

กรุงเทพ 16 พฤษภาคม 2555 -- บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2555 ระหว่าง 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2555 ว่า บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 205 ล้านบาท และมีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,529 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีผลขาดทุนลดลง 63% ในขณะที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 560 ล้านบาทและรายได้รวม 3,393 ล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา   ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง โทรีเซน ชิปปิ้ง ในขณะเดียวกันธุรกิจของเมอร์เมดก็เริ่มฟื้นตัวกลับมา และไม่มีการบันทึกรายการพิเศษที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว  สำหรับในไตรมาสนี้ UMS มียอดจำหน่ายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม. สูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่ยอดขายดังกล่าว ก็ถูกหักลบด้วยค่าใช้จ่ายในการบริหาร (SG&A) ที่เพิ่มสูงเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องยอมเสีย เพื่อให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  ผลขาดทุนสุทธิก่อนหักรายการพิเศษก็ดีขึ้น โดยขาดทุนลดลงไป 16% เป็นจำนวน 274 ล้านบาทเมื่อเทียบกับผลขาดทุน 326 ล้านบาทของปีก่อน  ซึ่งเหตุผลที่ขาดทุนน้อยลงเป็นผลมาจากการควบคุมบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโทรีเซน ชิปปิ้ง และเมอร์เมด นอกจากนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกจำนวน 964 ล้านบาท ในขณะที่ 6 เดือนแรกของปีที่แล้วกระแสเงินสดติดลบจำนวน 149 ล้านบาท

ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ กล่าวว่า"แม้ว่า หลายธุรกิจหลักของเราจะต้องเผชิญกับสภาวะการณ์ที่ย่ำแย่ของตลาดในภาพรวม แต่เราก็เริ่มมองเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนจากหน่วยธุรกิจหลัก  ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างภายในและความพยามยามในการควบคุมต้นทุนทางธุรกิจของเราเอง  โดยเห็นได้ชัดว่า กำไรและรายได้ของเราในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน ถึงแม้ว่าในไตรมาสนี้ เราจะต้องเผชิญกับปัญหาดัชนี BDI ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 25 ปี และยังคงเป็นช่วง low-season ของเมอร์เมด  เรายังคงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ TTA กลับมามีผลกำไรในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผมมั่นใจว่า ตอนนี้เราประสบความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่งแล้ว"

 

กลุ่มธุรกิจขนส่ง
มีส่วนแบ่งขาดทุนสุทธิลดลงจาก 403 ล้านบาทในไตรมาสที่หนึ่ง เหลือเพียง 7 ล้านบาทในไตรมาสที่สอง แม้ว่า ดัชนี BDI ในเดือนกุมภาพันธ์ จะลดต่ำลงเหลือเพียง 647 จุด ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลขาดทุนของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี  (normalized EBIT) ก็ลดลงจาก 59 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเหลือเพียง 6 ล้านบาทในไตรมาสนี้

ปัญหากองเรือล้นตลาดส่งผลให้อัตราเฉลี่ยค่าระวางเรือสำหรับเรือประเภท Supramax ทั่วโลกเหลือเพียง 8,679 เหรียญสหรัฐต่อวัน ลดลงถึง 41%จากไตรมาสก่อน  ในขณะที่อัตราเฉลี่ยค่าระวางเรือของเรือประเภท Handymax ก็ลดลง 31% เหลือเพียงแค่ 6,925 เหรียญสหรัฐต่อวัน  

แต่ด้วยความพยายามของโทรีเซน ชิปปิ้ง (ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองของ TTA) ในการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายและเจาะกลุ่มลูกค้าและตลาดใหม่ๆที่ไปให้บริการ ทำให้เราทำผลงานได้ดีกว่าตลาดโดยรวม โดยมีอัตราเฉลี่ยค่าระวางเรือในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 9,515 เหรียญสหรัฐต่อวันสำหรับเรือประเภท Supramax และ Handymax ยิ่งไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองเรือในไตรมาสนี้ยังลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาอีก 17%  เนื่องจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการจัดเก็บอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำรอง  การรวมศูนย์การจัดซื้อ และการลดปริมาณการบริโภคน้ำมันเครื่องของเรือ

ส่วนธุรกิจเรือบรรทุกน้ำมันของปิโตรลิฟต์ยังคงโชว์ผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในไตรมาสนี้ โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 8% เนื่องจากปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุน
ด้วยปิโตรลิฟต์มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจึงสามารถคืนหนี้บางส่วนไป ทำให้ต้นทุนทางการเงินของปิโตรลิฟต์ลดลงไปอีก 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้ เมื่อวัดผลงานในรูปสกุลเงินเปโซของฟิลิปปินส์เองแล้ว ปิโตรลิฟต์ยังมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอีก 19% ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งรายได้ให้กับ TTA ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 23%

"การหันมาเอาจริงเอาจังกับวิธีการบริหารจัดการรายวันของโทรีเซน ชิปปิ้ง ทำต้นทุนการบริหารกองเรือรายวันของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในผลงานที่ดีขึ้นของไตรมาสที่สองนี้ ทั้งๆ ที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากที่สุดของธุรกิจเดินเรือนับตั้งแต่ปี 2529" มร. เดวิด เอมส์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กล่าว "เราได้เห็นสัญญานธุรกิจที่ดีขึ้นในช่วงหกสัปดาห์แรกของไตรมาส 3 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) โดยอัตราค่าระวางเรือทั่วโลกได้ขยับขึ้นไป 23% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 (มกราคม-มีนาคม)  ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ของชิปปิ้งทั่วโลกเริ่มดีขึ้นเช่นนี้  เรามั่นใจว่า โทรีเซนชิปปิ้งอาจจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเพื่อนร่วมธุรกิจรายอื่นๆ ที่จะกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ปิโตรลิฟต์ยังคงเป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนให้กับ TTA ได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่เราได้ไปกระจายการลงทุนไว้"

 

กลุ่มธุรกิจพลังงาน
มีส่วนแบ่งขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้ทั้งสิ้น 68 ล้านบาท ลดลง 43% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพของธุรกิจต่างๆ ในกลุ่มเมอร์เมด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจวิศวกรรมใต้น้ำและธุรกิจเรือขุดเจาะ จึงช่วยให้การขาดทุนในไตรมาสนี้ลดลง

เมอร์เมดมีรายได้ทั้งสิ้น 996 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 นี้ ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุที่รายได้ตกลงไปเป็นผลมาจากเรือขุดเจาะ MTR-2 ต้องพักงานเพื่อเข้าซ่อมบำรุงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ดี กำไรของเมอร์เมดในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก โดยมีกำไรเบื้องต้นเพิ่มขึ้น  71% และกำไรจากการดำเนินงาน EBITDA ก็ดีขึ้นถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับสัญญาจ้างของลูกเรือและการใช้บริการ Shared Service ร่วมกับ TTA ซึ่งช่วยให้ทั้ง TTA และเมอร์เมดสามารถลดต้นทุนการจัดซื้อลงไปได้อย่างมาก  ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าระหว่างช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม ยังคงเป็นช่วงฤดูมรสุม แต่เมอร์เมดยังสามารถรักษาอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้น้ำได้สูงถึง 59% ซึ่งเพิ่มจาก 55.3% ในไตรมาสที่แล้ว ด้วยการปล่อยเช่าเรือเป็นหลัก

"หลังจากได้มีการปรับโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ไป เมอร์เมดก็สามารถลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้ และยังก่อให้เกิดการประสานงานที่ดีขึ้นในแต่ละหน่วยงาน ทำให้เมอร์เมดเริ่มจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มของธุรกิจวิศวกรรมใต้น้ำก็ดูสดใสขึ้น โดยเฉพาะในน่านน้ำแถบตะวันออกกลางที่เราเพิ่งคว้าสัญญาจ้างงานมาได้ถึง 3 ฉบับ ในขณะเดียวกัน เรือสนับสนุนการทำงาน  MTR-1 และ เรือขุดเจาะ MTR-2 ก็มีงานเข้ามารองรับยาวตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้  ดังนั้น ด้วยความพยายามในการปรับปรุงการบริหารจัดการภายใน และแนวโน้มของตลาดที่เริ่มดีขึ้น เราคาดว่า เมอร์เมดจะกลับมามีกำไรในไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว

ในไตรมาสที่สองนี้ เหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซียที่ TTA ถือหุ้นอยู่มีความคืบหน้าของการขุดสำรวจเพื่อหาค่าปริมาณถ่านหินสำรองตามมาตรฐาน JORC ไปอย่างมาก โดยการขุดสำรวจเหมืองถ่านหินที่ได้รับสัมปทานที่ใจกลางเกาะกาลิมันตันแล้วเสร็จไปแล้ว 2 บล็อคจากจำนวนทั้งหมด 4 บล็อค ซึ่งพบว่า มีถ่านหินประเภทซับบิทูมินัส (ซึ่งเป็นถ่านหินชนิดเดียวกับที่ UMS นำเข้า) จำนวนมากกว่า 100 ล้านตันในพื้นที่ทั้งสองบล็อคดังกล่าว และคาดว่า การขุดสำรวจพื้นที่ส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สามนี้

 

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
ในไตรมาสที่สองนี้ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 3 ล้านบาท ลดลง 96% จากปีก่อน เนื่องมาจากการเร่งจำหน่ายถ่านหินขนาด 0-5 มม. เพื่อให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดดำเนินการได้เร็วที่สุด และยอดการจำหน่ายปุ๋ยของบาคองโคที่ลดลง เนื่องจากชาวนาชะลอการซื้อปุ๋ยไปไตรมาสถัดไป

หลังจากเหตุวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้กว่าที่โรงงานของ UMS ที่อยุธยาจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติก็ย่างเข้าสู่ช่วงเดือนมกราคมแล้ว ในขณะที่โรงงานที่สมุทรสาครเองก็ยังคงต้องปิดทำการชั่วคราวจนกว่า UMS จะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดไว้ได้ ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะอนุญาติให้โรงงานกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งคือ การขนย้ายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม. จำนวน 400,000 ตันออกจากพื้นที่โรงงานสมุทรสาครให้หมด  ดังนั้นในไตรมาสนี้  UMS จึงเร่งระบายถ่านหินขนาด 0-5 มม. ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีราคาขายต่ำที่สุดในถ่านหินทั้งหมด ดังนั้น จนกว่าการขนย้ายถ่านหินเพื่อให้โรงงานสมุทรสาครจะกลับมาเปิดทำการได้ ยอดขายถ่านหินของ UMS ที่สูงขึ้นในช่วงนี้ จะมีผลทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ (SG&A) สูงกว่าปกติ และส่งให้กำไรลดลง  เนื่องจาก UMS จะมีต้นทุนค่าขนส่งด้วยรถบรรทุกและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น  โดย UMS ต้องขนส่งถ่านหินขนาด 0-5 มม.ออกจากสมุทรสาครไปให้กลุ่มลูกค้าโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี  และขนส่งถ่านหินคัดขนาดจากอยุธยากลับมาส่งให้กับกลุ่มลูกค้าในแถบจังหวัดสมุทรสาครแทน

ด้วยเหตุนี้ UMS จึงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีและดอกเบี้ย EBIT ในไตรมาสสองนี้ที่ 35 ล้านบาท  และในอีกสองไตรมาสข้างหน้า EBIT ก็จะยังถูกกดดันเช่นนี้ต่อไป เนื่องจาก UMS จำเป็นต้องเร่งระบายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม. เพื่อให้โรงงานสมุทรสาครกลับมาเปิดทำการได้เร็วที่สุด

ยอดการขายปุ๋ยของบาคองโคในไตรมาสสองนี้ลดลงไป 6% เหลือ 667 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 708 ล้านบาทของปีก่อน เนื่องจากฤดูกาลเพาะปลูกมีการขยับเล็กน้อย  ในปีที่แล้ว ชาวนาเวียดนามเริ่มซื้อปุ๋ยตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการซื้อปุ๋ยที่เร็วกว่าฤดูเพาะปลูกปกติที่มักจะตกอยู่ในเดือนมีนาคม-เมษายน  ส่วนปีนี้ ฤดูกาลเพาะปลูกกลับมาสู่ภาวะปกติ ในขณะที่หลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังอาจจะเริ่มเพาะปลูกช้าไปอีก ดังนั้น ในปีนี้ เราจึงไม่ได้เห็นยอดขายปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์เหมือนปีก่อน เพราะยอดขายชะลอมาขึ้นในเดือนเมษายนแทน

ราคาวัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสก่อน จึงมีส่วนช่วยให้กำไรขั้นต้นในไตรมาสสองนี้ดีกว่าไตรมาสหนึ่งเล็กน้อย โดยเพิ่มจาก 9% เป็น 10% แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้นกับยอดขายที่ลดลง ได้ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานลดลงจาก 76 ล้านบาทมาเป็น 39 ล้านบาทในไตรมาสนี้

"ปัจจัยที่ไม่คาดฝันต่างๆ ได้ทำให้สถานการณ์ของ UMS ต่างไปจากแผนงานที่เราคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก  ซึ่งเราต้องหาวิธีการที่จะทำให้ UMS กลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ควรเป็นให้เร็วที่สุด นั่นก็คือ การทำให้โรงงานทั้งสองแห่งกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้ UMS กลับมามีกำไรได้อีกครั้ง นอกจากนี้ เราก็กำลังพิจารณามาตรการต่างๆ ที่จะมาช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อผลกำไรระยะสั้นด้วย" นายวิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน กล่าว " ส่วนในเวียดนาม บาคองโคยังมีกำไรที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต  เราจึงพยายามหาวิธีที่จะเพิ่มส่วนแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจคลังสินค้าของบาคองโค ซึ่งปัจจุบันได้รับการขยายใบอนุญาติการทำธุรกิจคลังสินค้าให้เพิ่มพื้นที่ได้มากกว่า 118,000 ตารางเมตร"

 

แนวโน้ม
"เมื่อปีที่แล้ว เราเน้นและให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภายในของธุรกิจหลัก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งกำลังอยู่ในช่วงขาลง" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวสรุป "ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่เพียงเพื่อให้เราอยู่รอดได้ในช่วงเวลาเช่นนี้เท่านั้น แต่ยังเพื่อยกระดับขีดความสามารถของเราขึ้นไปรองรับสถานการณ์ที่ตลาดจะกลับมาดีอีกครั้ง  ผลงานในไตรมาสที่สองให้แสดงให้เห็นถึงกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทั้งสองธุรกิจ  และผมคาดว่า หลังจากผลของการปรับพื้นฐานโครงสร้างบริษัทได้แสดงผลอย่างเต็มที่แล้ว เราจะเห็นกำไรจากเมอร์เมด และโทรีเซนชิปปิ้ง ในระยะเวลาอันใกล้นี้"

"สำหรับ UMS เราจะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดทำการได้เร็วที่สุด  เพราะเราเชื่อว่า ด้วยวิธีการนี้เท่านั้นที่จะทำให้ UMS กลับไปอยู่ในสถานการณ์ปกติอย่างที่ควรจะเป็น  ซึ่งเราได้เริ่มดำเนินการไปแล้วและคาดการณ์ว่าโรงงานสมุทรสาครน่าจะกลับมาเปิดได้ และส่งให้ผลการดำเนินงานกลับมีกำไรอีกครั้งภายในไตรมาสที่ 1/2556"

 

เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุล
และหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้า
แห้งเทกองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ให้กลายกลุ่มธุรกิจเป็นรูปแบบปัจจุบัน เป็นต้นมา ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหิน (SERI และ Merton) และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)

 

สื่อมวลชน หากมีคำถามเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
Thoresen Thai Agencies Plc
รวิษฎา อังคีรส E-mail: ravisada_a@thoresen.com
Tel: +66 2254 8437 Ext. 393 Mobile: +668 1398 5098