TTA ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3: ผลการดำเนินงานที่เป็นบวกของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ถูกกลบด้วยการตั้งด้อยค่าความนิยมของเงินลงทุน

กลับหน้าข่าว 15 สิงหาคม 2555

กรุงเทพ 15 สิงหาคม 2555 - บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ "TTA" รายงานผลการขาดทุนสุทธิจำนวน 2,351 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 3.32 บาท สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2555 ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 ซึ่งการขาดทุนดังกล่าวเป็นผลมาจากการบันทึกการด้อยค่าความนิยมทางบัญชีของการลงทุนในบริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ "UMS" ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาการปิดโรงงานหนึ่งในสองแห่งเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ตามคำสั่งของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของ UMS อย่างมีสาระสำคัญ

รายได้ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 4,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ในขณะที่กำไรจากผลการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (normalized EBIT) ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 350 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 64%จากปีก่อน และเพิ่มขึ้นถึง 402% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ผลการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจแต่ละหน่วย ต่างก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยโทรีเซน ชิปปิ้ง ซึ่งใช้กลยุทธ์ในการนำเรือไปให้บริการในพื้นที่แถบทะเลแอตแลนติกซึ่งมีค่าระวางสูงกว่า ก็สามารถทำให้อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ย (Time Charter Equivalent - TCE) ของกองเรือตนเองเพิ่มขึ้นอีก 4% และยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเรือลงไปได้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมด ก็เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ทำให้มีกำไรเกิดขึ้นในไตรมาสนี้ ผลักให้กลุ่มธุรกิจพลังงานสร้างผลกำไรให้กับ TTA ได้ถึง 73 ล้านบาท ส่วนบาคองโค ก็มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ที่ 93 ล้านบาท ซึ่งช่วยหักลบผลขาดทุนของ UMS ทำให้กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีกำไรเล็กน้อยในไตรมาสนี้

การบันทึกการด้อยค่าความนิยมของการลงทุนใน UMS เป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการได้ขอให้มีการทำการศึกษาและประเมินผลการลงทุนของ TTA เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับโรงงานของ UMS ในอำเภอสวนส้ม ที่โดนหางเลขจากคำสั่งของจังหวัดสมุทรสาคร ในการสั่งระงับกิจการของผู้ประกอบการถ่านหินทุกราย อันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอำเภออื่นในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่ง UMS เองได้เร่งดำเนินการตามเงื่อนไขของจังหวัดเพื่อให้โรงงานกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ทาง UMS เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและมองหาหนทางอื่นไว้เป็นแผนสำรอง ซึ่งรวมถึงการหาพื้นที่สำหรับเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ดังนั้นการบันทึกการด้อยค่าความนิยมจึงเป็นการสะท้อนถึงความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อการทำให้โรงงานกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการระบุพื้นที่เป้าหมายและการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่

"หากมองจากมุมของผลการดำเนินงานแล้ว จุดเด่นของไตรมาสที่ 3 ก็คือ การที่ธุรกิจหลักทั้งสองตัว คือ โทรีเซน ชิปปิ้ง และ เมอร์เมด กลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นอีกครั้ง" ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว "ยิ่งไปกว่านั้น ไตรมาสนี้ยังเป็นไตรมาสที่บาคองโคมีผลงานดีที่สุดนับตั้งแต่เราซื้อกิจการมาเมื่อปี 2552 ในขณะที่ปิโตรลิฟต์เองก็ยังคงมอบสัดส่วนผลกำไรที่คงที่แน่นอนให้กับ TTA อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน เรากลับต้องเผชิญกับปัญหาของ UMS ที่เป็นผลมาจากความไม่แน่นอน คณะกรรมการและฝ่ายจัดการจึงได้ตัดสินใจที่จะบันทึกรายการด้อยค่าความนิยมของการลงทุนของ TTA ใน UMS ซึ่งเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับนโยบายการจัดทำรายงานทางเงินที่เคร่งครัดของเรา ถึงแม้จะมีรายการนี้เกิดขึ้น ทั้งคณะกรรมการและฝ่ายจัดการยังคงเชื่อมั่นว่า UMS จะสามารถกลับมาทำกำไร และเติบโตได้อีกครั้ง หากโรงงานทั้งสองแห่งกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ"

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจขนส่ง

กลุ่มธุรกิจขนส่งปรับตัวดีขึ้น สามารถสร้างผลกำไรได้ 67 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 นี้ เมื่อเทียบกับผลขาดทุนที่ 7 ล้านบาทของไตรมาสก่อนหน้า รายได้จากค่าระวางเรือของโทรีเซนดีดกลับมาเป็น 934 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสที่แล้ว และกำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีก็เพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีที่ 6 ล้านบาทของไตรมาสที่แล้ว และผลขาดทุน EBIT 17 ล้านบาทในปีก่อน

รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเรือส่วนหนึ่งของกองเรือโทรีเซนได้ออกไปให้บริการอยู่ในบริเวณแถบทะเลแอตแลนติก ซึ่งสามารถเรียกค่าระวางที่สูงกว่าได้ และเรายังได้มีการเช่าเรือเข้ามาเสริมกองเรือเพิ่มขึ้น มีผลทำให้โทรีเซน ชิปปิ้งมีเรือให้บริการเต็มเวลาเฉลี่ยจำนวนทั้งสิ้น 21 ลำในไตรมาสที่ 3 นี้ เมื่อเทียบกับเรือจำนวน 16 ลำในไตรมาสก่อน

ผลของการนำเอามาตรการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ทำให้โทรีเซน ชิปปิ้งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเรือลงได้ถึง 37% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้แก่ การปรับปรุงในส่วนของการบริหารจัดการเก็บอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำรอง การรวมศูนย์การจัดซื้อ และการลดปริมาณการใช้น้ำมันหล่อลื่นลง ในขณะเดียวกัน การปรับกองเรือให้อายุน้อยลง และเพิ่มการซ่อมบำรุงบนเรือให้มากขึ้น ก็ช่วยลดจำนวนการนำเรือเข้าซ่อมอู่แห้งได้มากขึ้นด้วย

"สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้โทรีเซน ชิปปิ้ง สามารถมีผลกำไรได้ในไตรมาสนี้ ทั้งๆ ที่เป็นไตรมาสที่ดัชนี BDI ตกต่ำเกือบถึงขีดสุดในรอบ 6 ปี ก็คือ ความมุ่งมั่นพยายามของทีมงานในการที่จะหาวิธีเพิ่มรายได้ในขณะเดียวกันก็ตรวจสอบในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าซ่อมบำรุงรักษาอย่างใกล้ชิด" มร. เดวิด เอมส์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กล่าว "ในขณะที่เราต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โทรีเซนชิปปิ้งได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถดำเนินงานได้อย่างมีหลักการ และมีกำไรได้ และจึงไม่น่าแปลกจากหากเราจะสามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ตลาดจะกลับมาในอีก 12-24 เดือนข้างหน้า ความสนใจของเราในวันนี้ คือการเพิ่มขนาดกองเรือของโทรีเซน จากเรือที่เราเป็นเจ้าของเองในวันนี้จำนวน 16 ลำ เพิ่มเป็น 24-30 ลำภายในปี 2558"

ผลกำไรของปิโตรลิฟต์อ่อนตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่สามนี้ เนื่องจากมีการนำเรือ 2 ลำเข้าอู่ซ่อมแห้ง จึงส่งผลกระทบต่อรายได้โดยรวม ในไตรมาสนี้ ปิโตรลิฟต์มีส่วนแบ่งผลกำไรให้กับ TTA จำนวน 26 ล้านบาท และยังเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจที่มีผลงานดีที่สุดในจำนวนธุรกิจที่เราไปกระจายการลงทุนไว้

กลุ่มธุรกิจพลังงาน

ในไตรมาสนี้ กลุ่มธุรกิจพลังงาน มีผลกำไรทั้งสิ้น 73 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผลขาดทุน 68 ล้านบาทในไตรมาสที่แล้ว และผลกำไร 22 ล้านบาทในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้น้ำในไตรมาสนี้สูงมากเป็นอันดับลำดับที่สองจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และความพยายามในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีการปรับสัญญาจ้างงานของลูกเรือ และความพยายามในการรวมศูนย์การจัดซื้อของ TTA ซึ่งช่วยให้เมอร์เมดสามารถลดต้นทุนในการจัดการเรือและต้นทุนของงานที่ได้รับการว่าจ้างได้เป็นอย่างมาก

รายได้ของเมอร์เมดไต่กลับไปอยู่ที่ระดับ 1,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากนี้ไป เมอร์เมดจะให้ความสำคัญกับแผนการเพิ่มประสิทธิภาพเรือวิศวกรรมใต้น้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำน้ำให้ลึกขึ้น และมีระบบอุปกรณ์ควบคุมเรือทางไกลคอยสนับสนุน ซึ่งจะทำให้สามารถเรียกค่าจ้างรายวันที่สูงขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น เมอร์เมดจะยังคงมองหาสัญญาระยะยาว และทำงานร่วมกับบริษัทน้ำมันชั้นนำในแถบที่มีการเติบโตสูง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ส่วนธุรกิจขุดเจาะของเมอร์เมดนั้น เรือ MTR-1 ยังคงรับงานเป็นเรือที่พักนอกชายฝั่ง ในขณะที่เรือ MTR-2 ก็ได้รับสัญญาว่าจ้างงานเรือขุดเจาะ โดยสัญญาของเรือทั้งสองทำกับบริษัทน้ำมันในแถบอินโดนีเชียและมีระยะเวลาในการทำงานยาวไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน 2555 เรือ MTR-2 มีแผนที่จะไปรับงานสำรวจพิเศษเป็นเวลา 3-4 เดือนขึ้นอยู่กับข้อสรุปของสัญญาในปัจจุบัน

การก่อสร้างเรือขุดเจาะ 3 ลำของ Asia Offshore Drilling Limited ("AOD") ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมีแผนส่งมอบเรือลำแรกในราวต้นเดือนธันวาคม 2555 โดยขณะนี้ได้เริ่มทำการตลาดเรือออกไปแล้ว เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เรือแบบ jack-up rigs ตัวใหม่ๆยังคงสูงอยู่ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์สูงกว่า 95% ทั่วโลก

"หลังจากที่บริษัท ได้วางแผนที่จะขยายโอกาสในการเติบโตของบริษัทไปยังภูมิภาคอื่นๆและหันกลับมาดูแลตรวจสอบค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดแล้ว เราก็ได้เห็นผลตอบรับที่ดีในเชิงบวกสำหรับความพยายามในครั้งนี้" ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว "จากแนวโน้มที่สดใสของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจของเมอร์เมดยังคงอยู่ในจุดที่จะสามารถหาโอกาสในการเติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งในตลาดเรือวิศวกรรมใต้น้ำและเรือขุดเจาะ รวมถึงตลาดของเรือขุดเจาะแบบ Jack-up rig ผ่านธุรกิจร่วมทุนคือ AOD ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2555 นี้"

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน มีกำไร 5 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับผลกำไร 3 ล้านบาทในไตรมาสที่สอง แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 94% สาเหตุที่ผลการดำเนินงานปีต่อปีลดลงเป็นผลมาจากการเร่งขายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม.จากโรงงานในสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการพิจารณาเปิดโรงงานที่สมุทรสาครอีกครั้งโดยให้ผู้ประกอบการลดสต็อกถ่านหินลง ทั้งนี้ผลขาดทุนของ UMS ถูกหักลบด้วยผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมของบาคองโค ซึ่งสามารถทำยอดขายและผลกำไรก่อนการหักดอกเบี้ยและภาษีในไตรมาสนี้ได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ซื้อกิจการเข้ามา

เหตุการณ์ที่ UMS ต้องเผชิญอยู่ในสมุทรสาครวันนี้ เกิดจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการถ่านหินรายอื่นที่มีโรงงานอยู่ในอำเภออื่นในจังหวัดสมุทรสาครเช่นเดียวกัน และ UMS ยังต้องเจอกับปัญหาต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องส่งถ่านหินขนาด 0-5 มมจากสมุทรสาครไปให้กับโรงงานซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ในขณะที่ต้องส่งถ่านหินคัดขนาดจากโรงงานอยุธยากลับมาให้ลูกค้าในแถบสมุทรสาคร สถานการณ์นี้ยุ่งยากมากขึ้นอีกเนื่องจากถ่านหินขนาด 0-5 มม ในจังหวัดสมุทรสาครถูกซื้อมาในช่วงระหว่างปี 2552-2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาถ่านหินสูงกว่าปัจจุบัน ดังนั้นการขายถ่านหินดังกล่าวออกไปในราคาถ่านวันนี้ รวมกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น จึงมีผลทำให้ UMS มีผลขาดทุนเพิ่มมากขึ้นจากการขายสต็อคถ่านหินนี้

สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงกลยุทธ์ของ UMS ในการผลิตถ่านหินปั้นเม็ด (Granular) ซึ่งเป็นหนทางที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับถ่านหินขนาด 0-5 มมให้มีกำไรมากขึ้น ซึ่งได้มีการผลิตถ่านหินปั้นเม็ดที่โรงงานอยุธยาได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถขยายการผลิตให้มากขึ้น เนื่องจากถ่านหินขนาด 0-5 มม.ยังถูกเก็บไว้ที่โรงงานที่สมุทรสาคร

"หลังจากที่เราเริ่มเร่งขายถ่านหินในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา เราได้ขายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม.ที่โรงงานในสมุทรสาครไปแล้ว 2 ใน 3 ของถ่านหินทั้งหมด" นายวิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานกล่าว "เรายังคงดำเนินการตามแผนงานในการระบายสต็อคถ่านหินออกไปจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนดของจังหวัดซึ่งก็คือ กุมภาพันธ์ 2556 แต่หากว่ามีเหตุใดที่ทำให้ต้องชะลอการเปิดโรงงานออกไปอีก เราก็กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้ UMS กลับมาสร้างผลกำไรที่คงที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโรงงานสำรอง การจัดหาท่าเทียบเรือลอยน้ำ และการนำเข้าถ่านหินจากเหมืองโดยตรง"

สำหรับบาคองโค หลังจากผ่านไตรมาสที่สองซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นไปแล้ว บาคองโคมียอดการขายพุ่งกลับขึ้นไปแตะระดับ 1,038 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 42% และสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา 56% ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้ปุ๋ยที่สูงขึ้น (เนื่องจากในไตรมาสที่แล้ว เกษตรกรรอจนนาทีสุดท้ายจึงจะซื้อปุ๋ย) และยังเป็นผลมาจากการที่บาคองโคเพิ่มยอดขายส่งออกมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจคลังสินค้ายังคงเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้กับการลงทุนของ TTA ในเวียดนามใต้ โดยคลังสินค้าทุกแห่งของบริษัทในเครือของ TTA ในเวียดนามยังคงมียอดการใช้งานเต็มกว่า 90%

แนวโน้ม

"เราคาดการณ์ว่าค่าระวางเรือจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน แต่ด้วยทีมงานคุณภาพและกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมที่เรามีในโทรีเซนชิปปิ้ง ทำให้เรามั่นใจได้ว่า เรามีหน่วยธุรกิจที่เข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ ที่จะเติบโตต่อไปในระยะยาว" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวสรุป "ในขณะที่เราเฝ้ามองการเติบโตทีละเล็กทีละน้อยของโทรีเซน ชิปปิ้ง ในปีหน้านี้ แนวโน้มของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ดูสดใส และเมอร์เมดในวันนี้ก็อยู่ในสถานะที่จะสร้างผลกำไรที่เข้มแข็งให้กับเราได้ เมื่อตลาดกลับมา"

"สำหรับ UMS เราจะยังคงทำทุกวิถีทางที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา เพื่อให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดได้อีกครั้งอย่างเร็วที่สุด และจะมองหาแผนงานสำรองในกรณีที่เราเจออุปสรรคขวางกั้น ในขณะเดียวกัน เราก็หวังว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมของบาคองโค และบาเรียเซเรส ซึ่งรวมกับการเติบโตและการจับจองพื้นที่ของคลังสินค้าต่างๆ ของเราในเวียดนาม ก็จะช่วยหักลบผลขาดทุนของ UMS ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดว่า อาจจะยังคงขาดทุนไปจนถึงไตรมาสที่สองของปี 2556"


เกี่ยวกับ TTA

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุล และหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้า แห้งเทกองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ให้กลายกลุ่มธุรกิจเป็นรูปแบบปัจจุบัน เป็นต้นมา ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหิน (SERI และ Merton) และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)

สื่อมวลชน หากมีคำถามเพิ่มเติมโปรดติดต่อ

Thoresen Thai Agencies Plc
รวิษฎา อังคีรส E-mail: ravisada_a@thoresen.com
Tel: +66 2254 8437 Ext. 393 Mobile: +668 1398 5098

Francom Asia
วันดี เลิศสุพงษ์กิจ E-mail: wandeel@francomasia.com
Tel: +66 2233 4329 ext. 19 Mobile: + 668 1838 4001