TTA ประกาศผลประกอบการรอบปีบัญชี 2555

กลับหน้าข่าว 30 พฤศจิกายน 2555

กรุงเทพฯ / 30 พฤศจิกายน 2555 – บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TTA” รายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 4,619 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 6.52 บาท สำหรับผลประกอบการในรอบบัญชีปี 2555 ซึ่งสิ้นสุดลง ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 เมื่อเทียบกับผลประกอบการของปีก่อนที่บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 173 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.24 บาท ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการขาดทุนในปีนี้เป็นผลมาจากการบันทึกรายการพิเศษที่เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี ที่ไม่ใช่เงินสด การตัดจำหน่าย และการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,577 ล้านบาท

ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลประกอบการในปีนี้ว่า “เพื่อปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการจัดทำรายงานทางบัญชี บริษัทฯ จึงได้บันทึกรายการด้อยค่าที่มีสาระสำคัญหลายรายการ รวมถึงการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายบางรายการในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบันทึกรายการทางบัญชี ที่ไม่ใช่เงินสด ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ซึ่งยังคงแข็งแกร่งและปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2556 ด้วยงบดุลที่สะท้อนถึงมุมมองของการดำเนินงานด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มธุรกิจหลัก ก็จะทำให้เราอยู่ในสถานะที่พร้อมจะกลับมาทำกำไรได้ดีขึ้นในปีหน้า”

รายได้รวมของปี 2555 อยู่ที่ 16,339 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยราว 7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดขนาดกองเรือของ โทรีเซน ชิปปิ้ง ถูกชดเชยด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากบริษัท บาคองโค จำกัด (“บาคองโค”) บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) (“เมอร์เมด”) และบริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) (“UMS”)

ตลอดปีที่ผ่านมานั้น สองธุรกิจหลักของ TTA คือ โทรีเซน ชิปปิ้ง และเมอร์เมด แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการปรับตัวของพื้นฐานการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการเรือและโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโทรีเซน ชิปปิ้งสามารถมีผลกำไรจากการดำเนินงานเป็นบวกได้ แม้ว่าค่าเฉลี่ย BDI นั้นจะลดลงจากปีที่แล้วถึง 30% ในขณะที่เมอร์เมดก็สามารถมีกำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ได้สูงถึง 603 ล้านบาท ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของสองธุรกิจหลัก ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,974 ล้านบาท หรือสูงกว่าปีก่อนถึง 1,261%

ส่วน UMS นั้น ก็ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครสามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง ซึ่งการเร่งขาย สต็อคถ่านหินขนาด 0.5 มิลลิเมตรออกไปนั้น ส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง ซึ่งเมื่อรวมกับผลกระทบของการปฏิบัติงานด้วยโรงงานเพียงแห่งเดียวแล้ว จึงทำให้ UMS มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีในปีนี้ (Normalized EBIT) อยู่ที่ 103 ล้านบาท ในขณะที่บาคองโค มียอดขายสูงขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็ต้องรับมือกับราคาวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราผลกำไร ทำให้บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ที่ระดับ 243 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อยอยู่ 7%

“ปี 2555 นี้ ถือเป็นปีของการปรับโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลง และการตัดสินใจสำคัญๆ สำหรับ TTA ซึ่งในด้านที่ดี เราได้เห็นผลงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของโทรีเซน ชิปปิ้ง และเมอร์เมด ซึ่งเป็นสองกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของเรา แต่ในขณะเดียวกันนั้น UMS ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ ซึ่งยังต้องเร่งทำทุกวิถีทางที่จะทำให้โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครสามารถกลับมาปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วที่สุดอีกครั้ง” ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว “การที่โทรีเซน ชิปปิ้ง มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ในไตรมาสที่ 4 สูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 50% นั้น ถือว่าน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลมาจากการรับมอบเรือ Thor Insuvi เข้าสู่กองเรือของเรา และผลจากการเช่าเรือเข้ามาเสริมในอัตราเฉลี่ยที่ 1.3 ลำต่อไตรมาส ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโทรีเซน ชิปปิ้ง พร้อมที่จะขยับขยายกิจการ แม้ในภาวะค่าระวางเรือตกต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการสร้างกองเรือใหม่ ตามแผนการเพิ่มทุนของบริษัทนั้น

“ในขณะเดียวกัน ส่วนเมอร์เมดนั้น ก็ยังคงเดินหน้าสานสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นๆ ธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และเมอร์เมดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะต้องปฏิเสธงานไปเนื่องจากไม่มีเรือไว้คอยให้บริการ ตลาดเรือขุดเจาะแบบท้องแบนยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก และคณะกรรมการของบริษัทเมอร์เมดก็กำลังมองหาทางแก้ปัญหานี้ ซึ่ง TTA ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนหากเมอร์เมดจะมีแผนการซื้อเรือขุดเจาะแบบท้องแบนมาเพิ่ม”

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจขนส่ง
กลุ่มธุรกิจขนส่งมีผลขาดทุนรวมอยู่ที่ 775 ล้านบาทในรอบปีบัญชีนี้ โดยเป็นผลมาจากการตัดจำหน่ายเพียงครั้งเดียว และการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์รวมจำนวน 909 ล้านบาท ซึ่งหากตัดรายการพิเศษเหล่านี้ออกไปแล้ว กลุ่มธุรกิจขนส่งสามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้ 133 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่น่าพอใจท่ามกลางสภาวะขาลงของตลาดขนส่งสินค้าแห้งเทกอง

โดยรายการพิเศษสองรายการถูกบันทึกไปในไตรมาสที่ 1/2555 ส่วนรายการที่สามซึ่งเป็นการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวรจำนวน 501 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 4/2555 นี้ ซึ่งเกิดจากค่าธรรมเนียมในการโอนสัญญาสั่งต่อเรือใหม่จำนวน 3 ลำจากอู่วินาชินมูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการทำสัญญาในช่วงสูงสุดของตลาดเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง

ในรอบปีบัญชีนี้ โทรีเซนชิปปิ้ง มีผลกำไรจากดำเนินงานตามปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (normalized EBIT) เป็นบวกที่ระดับ 118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 886% เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานตามปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (normalized EBIT) ที่ติดลบ 15 ล้านบาทในปีก่อน โทรีเซนชิปปิ้งประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองเรือ การย้ายฐานปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ไปยังประเทศสิงคโปร์ การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และการปรับปรุงระบบบำรุงรักษาเรือ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอัตราค่าระวางเรือที่ตกต่ำลงเป็นอย่างมากตลอดทั้งปี

สำหรับผลงานของปิโตรลิฟท์นั้น มีการชะลอตัวลงเล็กน้อยในปีที่ผ่านมา หลังจากที่สภาพอากาศอันเลวร้ายในช่วงครึ่งปีหลังได้ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการนำเรือสองลำเข้าอู่แห้งเพื่อรับการบำรุงรักษาและซ่อมแซม อย่างไรก็ดี EBITDA ของปิโตรลิฟต์ทั้งในภาพรวมของการดำเนินงาน และการปันส่วนแบ่งผลกำไรให้กับ TTAยังคงแข็งแกร่งในระดับ 12% ตลอดทั้งปี

“ในปี 2555 ธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองต้องเผชิญกับอัตราค่าระวางเรือที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี แต่โทรีเซนชิปปิ้งยังสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้เป็นบวกได้นั้น ถือว่าน่าประทับใจอย่างมาก” มร. เดวิด เอมส์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กล่าว “ตลอดปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายของการเป็นเจ้าของกองเรือโดยเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 3,952 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ ซึ่งทำให้โทรีเซน ชิปปิ้ง ติดกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำที่เป็นเจ้าของกองเรือจากทั่วโลก ความสำเร็จตรงนี้ เป็นผลมาจากการมุ่งเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารเรือนั้นลดลงกว่า 32% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เราคาดว่าโทรีเซน ชิปปิ้งจะยังมีการเติบโตไม่มากนักในปีหน้าเนื่องจากค่าระวางเรือยังคงต่ำต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ท่ามกลางสภาวะตลาดขาลงนี้ไปได้ และคว้าโอกาสทางธุรกิจที่จะตามมาเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัวในปี 2557 เป็นต้นไป”

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจพลังงาน
การพลิกกลับมาทำผลงานได้ดีของเมอร์เมด ได้ช่วยให้กลุ่มธุรกิจพลังงานมีส่วนแบ่งผลกำไรที่ 24 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจำนวน 110 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน และการเจาะตลาดใหม่ เพื่อคว้าโอกาสในช่วงที่อุตสาหกรรมของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

รายได้รวมของเมอร์เมดเพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 5,714 ล้านบาท ในขณะที่ผลกำไรนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยกำไรขั้นต้นนั้นเพิ่มขึ้น 19% เป็น 1,944 ล้านบาท ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (normalized EBIT) นั้นปรับตัวสูงขึ้น 138% มาอยู่ที่ระดับ 603 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายของเรือและโครงการต่างๆ อย่างเคร่งครัด และเรือขุดเจาะ MTR-1 กลับมาทำงานอีกครั้งหลังจากหยุดไปเป็นเวลาเกือบปี และมูลค่าของสัญญาที่สูงขึ้นสำหรับบริการวิศวกรรมใต้น้ำเต็มรูปแบบ

ในระยะหลังนี้ เมอร์เมดได้มุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารกองเรือสำหรับบริการวิศวกรรมใต้น้ำ โดยให้ความสำคัญกับเรือที่สามารถเรียกค่าบริการสูงๆ ได้ และเจาะตลาดเข้าไปยังภูมิภาคที่มีการเติบโตสูง เช่น ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ซึ่งนโยบายนี้ทำให้บริษัทสามารถคว้าสัญญาสำคัญมาได้หลายฉบับตั้งแต่ช่วงต้นของปีงบประมาณ 2556 จากลูกค้าในพื้นที่บริเวณตะวันออกกลางที่เราสามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี

สำหรับแผนการของ TTA ที่จะลงทุนตรงในธุรกิจถ่านหินในประเทศฟิลิปปินส์ โดยการแปลงหนี้ให้เป็นหุ้นสามัญนั้น ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่ดูแลในท้องถิ่น โดยยังต้องรอการตีความทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อจำกัดของการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในบริษัทฟิลิปปินส์ เนื่องด้วยสาเหตุที่การแปลงหนี้เป็นทุนยังไม่เรียบร้อย สถานะทางการเงินของบริษัท SKI Energy Resources (“SERI”) จึงยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ จึงทำให้ SERI ยังผลิตถ่านหินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน TTA จึงได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญจำนวน 908 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับนโยบายทางการบัญชีและการจัดทำรายงานอย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกัน บริษัทก็เร่งหาหนทางในการปรับโครงสร้างใน SERI และประเมินหาทางเลือกอื่นๆ ในการแปลงหนี้เป็นทุนรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ เพื่อที่จะทำให้บริษัทนี้กลับมาดำเนินการผลิตในระดับที่ก่อให้เกิดผลกำไรได้ตามแผนงานที่เคยวางไว้

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นเมอร์เมดพลิกกลับมาทำผลงานได้ดีอีกครั้ง ซึ่งสามารถคว้าสัญญาสำคัญๆ ได้ตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ 2556 ซึ่งสัญญาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำร่วมกับ ซาอุดิ อรามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลก โดยสัญญาล่าสุดที่เพิ่งเซ็นกับบริษัทร่วมทุนของเมอร์เมดนั้นมีมูลค่ากว่า 530 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ เมอร์เมดจะมีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นราว 60-70% ของมูลค่าสัญญารวม” ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวเสริม “ส่วนการลงทุนในธุรกิจถ่านหินในประเทศฟิลิปปินส์นั้น เราก็ยังคงมั่นใจว่าเหมืองที่เราได้รับสัมปทานจะสามารถผลิตถ่านหินได้ปีละ 500,000 ถึง 1,000,000 ตัน หากมีการลงทุนในปริมาณและทิศทางที่เหมาะสม เราตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อที่จะรับรู้ขีดความสามารถที่แท้จริงของโครงการนี้”

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีผลขาดทุน 23 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 เมื่อเทียบกับผลกำไร 301 ล้านบาทในปีก่อน ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการเร่งระบายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม. และการตั้งสำรองล่วงหน้าเผื่อมูลค่าที่ลดลงของสต็อคถ่านหินจำนวน 107 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมการตั้งสำรองนี้ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามปีงบประมาณ หรือย้อนกลับรายการตั้งสำรองได้หากราคาถ่านหินปรับตัวดีขึ้น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานน่าจะทำกำไรได้ เนื่องจากบาคองโคและบาเรียเซเรสยังคงทำผลงานได้ดี

ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมานี้ UMS ได้เผชิญกับอุปสรรคมากมาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว มาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท ซึ่งเหตุการณ์หลักคือการสั่งปิดกิจการของผู้ประกอบการถ่านหินทุกรายในจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 เนื่องมาจากการประท้วงด้านผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่ง UMS ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เงื่อนไขหลักของการกลับมาเปิดโรงงานของ UMS คือการเคลียร์สต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม ทั้งหมดออกจากพื้นที่ ซึ่งได้ขายออกไปให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ส่วนโรงงานในอยุธยาก็ต้องดูแลลูกค้าของ UMS ในสมุทรสาครอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปฏิบัติงานข้ามจังหวัดแบบนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงนำไปสู่ผลขาดทุน อย่างไรก็ดี UMS ยังคงหาวิธีระบายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มิลลิเมตรออกไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันเส้นตายที่ทางการกำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556

สำหรับผลกำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (normalized EBIT) ของบาคองโคนั้น อยู่ที่ 243 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากยอด 261 ล้านบาทในปีก่อนหน้า เนื่องมาจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ บาคองโคยังได้มุ่งเน้นเพิ่มยอดการส่งออกในปี 2555 เพื่อชดเชยอุปสงค์ที่ลดลงในตลาดเวียดนาม ด้วยเหตุนี้เอง ยอดขายในภาคส่งออกของบริษัทจึงเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าเท่าตัว จาก 28,600 ตันในปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็น 60,700 ตันในปีนี้

บาคองโคจะทำการขยายธุรกิจโกดังเก็บสินค้าในเดือนมกราคม 2556 ด้วยการเปิดโกดังแห่งใหม่ ซึ่งสามารถจัดเก็บสินค้าทั้งประเภทบรรจุถุงและเทกองได้ถึง 100,000 เมตริกตัน และจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ท่อ และโลหะอีกกว่า 20,000 ตัน ทั้งนี้ ลูกค้าของบาคองโคได้เริ่มติดต่อขอจองพื้นที่ในโกดังแห่งใหม่นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่พื้นที่โกดังภายใต้การดูแลของ TTA ในเวียดนามนั้น ก็ใช้งานเต็มถึง 90% ด้วยกัน

“โรงงานสมุทรสาครของ UMS จะยังคงเดินหน้าระบายถ่านหินขนาด 0-5 มิลลิเมตรต่อไป ในขณะเดียวกัน เราก็จะเร่งมือทำงานให้ทันตามกำหนดการที่ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กำหนดไว้ เมื่อโรงงานแห่งนี้กลับมาเปิดทำงาน หรือเมื่อบริษัทนำเอาวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่นๆ เข้ามาใช้ UMS ก็จะสามารถกลับมาสร้างกำไรได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการป้อนถ่านหินให้แก่ลูกค้าหลายรายภายในตัวจังหวัด” นายวิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน กล่าว “ในเวียดนามนั้น งานของเราได้คืบหน้าไปมาก ขณะนี้ โทรีเซน วีนามา โลจิสติกส์ และบาคองโค ต่างก็พร้อมที่จะนำเสนอบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรให้แก่ลูกค้า ซึ่งก็จะส่งผลให้ท่าเรือบาเรีย เซเรส เติบโตตามไปด้วย โดย TTA นั้นถือหุ้นที่อัตรา 20% ในท่าเรือแห่งนี้ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในเวียดนามตอนใต้นั้น มีความต้องการด้านบริการโลจิสติกส์ระดับมืออาชีพเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จที่มาจากแผนงานของบริษัทในการพัฒนาธุรกิจให้สามารถมอบบริการโลจิสติกส์แบบสมบูรณ์เป็นรายแรกในตลาดนี้”

แนวโน้ม
สำหรับอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าแห้งเทกองนั้น น่าจะยังมีอัตราการเติบโตของอุปทานที่สูงกว่าอุปสงค์อยู่อีกอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 ไตรมาส โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ค่าระวางเรือน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะทำให้มีการปลดระวางเรือเพิ่มมากขึ้น และซึ่งจะกดดันราคาซื้อขายเรือให้ต่ำลงไปอีกในระยะสั้น โทรีเซน ชิปปิ้ง จะยังคงมุ่งเน้นการปฏิบัติงานและการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการค้นหาโอกาสที่จะขยายกองเรือต่อไปในอนาคต โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 24-30 ลำ

ส่วนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น TTA คาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้มีการสำรวจและผลิตน้ำมันกันอย่างตื่นตัวในตลาดเป้าหมายของเมอร์เมดหลายแห่งด้วยกัน รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาตะวันตก ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าเรือขุดเจาะแบบท้องแบนและแบบสามขาจะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องในอนาคต และเมอร์เมดก็อาจพิจารณาลงทุนในธุรกิจส่วนนี้เพิ่มในปี 2556 นอกจากนี้ การลงทุนของเมอร์เมดในบริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่ง จำกัด (“AOD”) ก็น่าจะผลิดอกออกผลได้ดีในปีหน้านี้ หลังจากที่อัตราค่าจ้างรายวันที่พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางสภาวะที่ตลาดกำลังขาดแคลนอุปทาน ทั้งนี้ AOD ได้ลงนามในสัญญาฉบับแรกของบริษัทกับบริษัทน้ำมันแห่งซาอุดิอาระเบียไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นมูลค่ากว่า 236.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เราคาดว่าทุกกลุ่มธุรกิจจะมีโอกาสทำผลประกอบการได้ดีในปี 2556 โดยเฉพาะเมอร์เมด ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติงานในตลาดที่มีการเติบโตสูง ท่ามกลางสภาวะขาขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวสรุป “สำหรับโทรีเซน ชิปปิ้ง นั้น เราคาดการณ์ว่าจะสามารถทำกำไรได้เล็กน้อยในปีหน้า โดยที่อัตราค่าระวางเรือจะยังอยู่ในระดับที่ไม่ต่างจากในปีนี้เท่าไรนัก เราจะใช้เวลาในปีหน้านี้ไปกับการพัฒนากองเรือของเราให้พร้อมสำหรับสภาวะขาขึ้นของตลาด ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นภายใน 12-18 เดือนข้างหน้านี้ สำหรับ UMS นั้น แน่นอนว่าเราจะต้องมุ่งเน้นไปที่การเปิดโรงงานในสมุทรสาครอีกครั้ง เพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรได้โดยเร็ว”

เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุล และหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ให้กลายกลุ่มธุรกิจเป็นรูปแบบปัจจุบัน เป็นต้นมา ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหิน (เมอร์ตันและชิงเมย) และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)