กรุงเทพ ประเทศไทย 15 สิงหาคม 2556 -- โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 273 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 0.28 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ของรอบปีบัญชี 2556 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2556 เปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 2,351 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 3.32 บาท ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2556 ได้รับผลกระทบจากการบันทึกรายการพิเศษสองรายการคือ การตั้งสำรองเผื่อมูลค่าถ่านหินที่ลดลงของในคลังสินค้าของ UMS จำนวน 230 ล้านบาท เนื่องจากราคาถ่านหินมีการปรับตัวลดลง และการตั้งสำรองเผื่อการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 192 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าหากตัดสองรายการพิเศษนี้ออกแล้ว TTA น่าจะมีผลกำไรสุทธิประมาณ 27 ล้านบาทในไตรมาสนี้
TTA มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาสนี้ที่ 663 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบหกเท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นผลงานจาก บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมด ซึ่งทำธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และบริษัท บาคองโค จำดัด ซึ่งทำธุรกิจผลิตปุ๋ยและให้เช่าคลังสินค้า TTA ได้รับส่วนแบ่งผลกำไร (Equity Income) ในไตรมาสนี้ 60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% จากไตรมาส 3/2555 ที่ 34 ล้านบาท โดยจำนวนที่สูงขึ้นส่วนใหญ่มาจากผลงานของบริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่ง จำกัด หรือ AOD ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของเมอร์เมด เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากส่วนแบ่งกำไรจาก ปิโตรลิฟต์ และบาเรียเซเรส
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองประธานกรรมการบริหารของ TTA กล่าวว่า "ในไตรมาสสามนี้ เรายังคงต้องดำเนินงานท่ามกลางสถานการณ์อันท้าทาย โดยเฉพาะในธุรกิจหลักบางตัว เมอร์เมดสามารถกลับมาทำผลงานได้ดีในไตรมาสนี้เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน และสามารถที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสัญญาที่ทำไว้กับซาอุดิอรามโคอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน บาคองโคเอง ก็ยังคงมีผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนโทรีเซน ชิปปิ้งที่ดำเนินธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง มีรายได้และ EBITDA ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา และมีเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก แต่อัตราค่าระวางเรือที่ตกต่ำทั่วทั้งอุตสาหกรรมนี้ก็ยังเป็นปัญหาที่ชิปปิ้งต้องเผชิญตลอดทั้งไตรมาส"
กลุ่มธุรกิจขนส่ง
หลังจากผ่านพ้นช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งเป็น low-season ไปแล้ว ดัชนี BDI ก็ปรับตัวดีขึ้น 12% ในช่วงไตรมาสสามนี้ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับล่างสุดของวัฎจักร โดยลดลงจากปีที่แล้วอีก 13% โทรีเซนชิปปิ้งบริหารกองเรือในไตรมาสนี้เฉลี่ยที่ 27.7 ลำเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียงแค่ 21.2 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือที่เช่าเข้ามาเสริมกองเรือ การเช่าเรือเพิ่มขึ้น ประกอบกับการรับมอบเรือ M.V. Thor Fearless ทำให้รายได้ของโทรีเซนชิปปิ้งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% มาเป็น 1,144 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าบรรยากาศในอุตสาหกรรมเดินเรือจะมีความท้าทายสูง แต่โทรีเซนชิปปิ้งก็สามารถบริหารกองเรือจนมี EBITDA เป็นบวกที่ 119 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 106 ล้านบาทในไตรมาสที่แล้ว ในขณะเดียวกันก็ยังคงควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี โดยสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของเรือไว้ได้ที่ระดับ 3,902 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 4,500-4,600 เหรียญสหรัฐ และผลจากการที่มีกองเรือที่อายุน้อยลงและการที่ลูกเรือซ่อมบำรุงเรืออยู่เป็นประจำ ทำให้โทรีเซนชิปปิ้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเรือลงได้อีก 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
โทรีเซนชิปปิ้ง ยังคงที่จะมองหาโอกาสในการขยายกองเรือในขณะที่ราคาสินทรัพย์ค่อนข้างต่ำ ในขณะเดียวกัน แนวโน้มของธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองยังคงอ่อนตัว ถึงแม้ว่ากองเรือทั่วโลกในปี 2556 จะมีการเติบโตช้าที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าเหล็ก จะส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดมีสูงกว่าอุปทานที่จะเกิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นอัตราค่าระวางเรือของเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557
กลุ่มธุรกิจพลังงาน
ภาคธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งยังคงได้รับประโยชน์จากการสำรวจของบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น สินทรัพย์ของเมอร์เมด โดยเฉพาะเรือวิศวกรรมใต้ทะเลถูกว่าจ้างให้ทำงานตลอดทั้งไตรมาส ทำให้ EBITDA ของเมอร์เมดที่เคยติดลบที่ 20ล้านบาทในไตรมาส 2/2556 พลิกกลับมาเป็นบวก 528 ล้านบาทในไตรมาส 3/2556 ในขณะที่รายได้ก็ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น โดยมาอยู่ที่ระดับ 2,415 ล้านบาท ดีขึ้นจากปีก่อนกว่า 38% และดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา 73%
ผลงานของเมอร์เมดส่วนใหญ่เกิดจากการที่เรือวิศวกรรมใต้น้ำทุกลำได้รับสัญญาว่าจ้างงานที่อัตราค่าจ้างเฉลี่ยสูงถึง 86,943 เหรียญสหรัฐ/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28% ในขณะที่ธุรกิจขุดเจาะมีรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องมาจากเรือขุดเจาะท้องแบน MTR-2 ต้องเข้าซ่อมบำรุงสภาพครั้งใหญ่เกือบตลอดทั้งไตรมาส
เมอร์เมดมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการในสัญญาที่ทำไว้กับซาอุดิอรามโค ส่งผลให้ต้นทุนในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบปีต่อปี ในขณะเดียวกัน เมอร์เมดก็ต้องบันทึกการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้รับรู้อีก 227 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เนื่องจากอัตราค่าเงินบาทอ่อนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบในทางลบเมื่อต้องแปลงกลับมาเป็นเงินบาท
แนวโน้มของธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งยังคงแข็งแกร่ง ธุรกิจวิศวกรรมใต้ทะเลของเมอร์เมดยังคงอยู่ในช่วงที่ตลาดมีความต้องการใช้เรือให้บริการนอกชายฝั่งและการบริการอื่นๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แนวโน้มของเมอร์เมดในธุรกิจให้บริการขุดเจาะยังคงเป็นบวก โดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดเรือขุดเจาะยังคงสดใส ซึ่งวัดจากอัตราค่าจ้างรายวันและอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีผลงานที่แตกต่างกันในไตรมาสที่ 3 นี้ โดยบาคองโคยังคงสร้างผลกำไรและกระแสเงินสดที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ส่วน UMS ก็เพิ่งจะได้รับการอนุญาตกลับมาเปิดโรงงานที่สมุทรสาครอีกครั้งในปลายไตรมาสนี้ หลังจากต้องปิดตัวไปเป็นเวลาเกือบถึง 2 ปี
UMS มีรายได้ 417 ล้านบาท ลดลง 59%จากปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ UMS เร่งระบายสต๊อคถ่านหินขนาด 0-5 มม เพื่อปฏิบัติตามหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการเปิดโรงงานที่สมุทรสาครอีกครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา UMS มีรายได้เพิ่มขึ้น 2% ส่วนยอดขายเพิ่มขึ้น 9% ในขณะที่ EBITDA ลดลงเหลือ 5 ล้านบาทจาก 18 ล้านบาท เนื่องมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ปิดโรงงานที่สมุทรสาคร ถึงแม้ว่าโรงงานจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ท่าเรือเพื่อขนถ่ายถ่านหิน UMS จึงกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับภาครัฐในประเด็นนี้ ทั้งนี้ UMS ได้ตั้งสำรองเผื่อมูลค่าที่จะลดลงของถ่านหินขนาด 0-5 มม.ในคลังสินค้าจำนวน 230 ล้านบาท เพื่อสะท้อนการปรับตัวลดลงของราคาถ่านหินในไตรมาส 3/2556
บาคองโคยังคงโชว์ผลงานได้ดีอีกครั้งในไตรมาสนี้ มี EBITDA เป็นบวกที่ 90 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้จะลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ EBITDA ของบาคองโคปรับตัวลดลงเพียงแค่ 7% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าวัตถุดิบที่ลดลง
เมื่อไตรมาสที่แล้ว บาคองโคเปิดคลังสินค้าแห่งใหม่ขนาด 27,000 ตารางเมตร ส่งผลให้รายได้จากคลังสินค้าในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวมของบาคองโค คลังสินค้าของบาคองโคถูกจับจองพื้นที่ไปแล้วเกือบ 80%ในไตรมาสนี้ โดยรวมแล้ว TTA และบริษัทร่วมทุนในเวียดนามเป็นเจ้าของพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมดรวม 53,000 ตารางเมตร และมีขีดความสามารถในการบรรจุสินค้ารวมกันถึงเกือบ 190,000 เมตริกตัน
แนวโน้ม
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า "ผลประกอบการของ TTA ส่วนใหญ่มาจากผลงานของโทรีเซนชิปปิ้ง และเมอร์เมด ซึ่งยืนกันอยู่คนละด้านของวัฎจักรในวันนี้ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นสถานการณ์ที่เราได้เคยคาดการณ์ไว้ในตอนที่เรากระจายความเสี่ยงในการลงทุน แต่ผลการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ก็ยังไม่ได้ส่งผลอย่างเต็มที่อย่างที่ควร เพื่อที่จะมาชดเชยกับสถานการณ์ช่วงตกต่ำของอุตสหกรรมที่อาจจะลากยาวต่อไปที่อาจจะเกิดกับหนึ่งในสองธุรกิจหลัก"
"ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายนานัปการ เรายังคงคาดหวังให้โทรีเซนชิปปิ้งมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก ประกอบกับอุปทานในตลาดเริ่มที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปีหน้า เรามั่นใจว่า ทั้งโทรีเซน ชิปปิ้ง และ TTA จะยังคงสร้างผลกำไรที่สม่ำเสมอกลับมาอีกครั้งในระยะเวลาอันใกล้ แนวโน้มสำหรับเมอร์เมดยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อยในช่วงระยะกลาง ในขณะเดียวกัน บาคองโคยังคงเป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับ TTA อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อมองดูแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 และไตรมาสถัดๆ ไป เราจะให้ความสำคัญกับ UMS มากที่สุด โดยจะทำให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง พัฒนาการกระบวนการอัดแท่งถ่านหินขนาด 0-5 มม. และหาหนทางในการส่งถ่านหินออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงผลกำไรในระยะยาว"
เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ "TTA" เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุลและหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นแต่เพียงผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหินในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)