กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2558 – TTA ตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมสนับสนุนมูลนิธิรักษ์ไทย เดินหน้าโครงการ ‘กล้าทำดี’ รณรงค์ให้เยาวชนยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน มุ่งปรับพฤติกรรมของเด็กและสร้างบรรยากาศโรงเรียนให้เป็นมิตร เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ รักโรงเรียน และมีความสุขกับการเรียน ขจัดอุปสรรคกีดขวางการพัฒนาศักยภาพเยาวชนจากการถูกรังแก พร้อมตอกย้ำปรัชญาความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจต้องเคียงข้างกับความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านมูลนิธิรักษ์ไทยเผยเป้าหมายภายในปี 2560 มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมโครงการ 1,860 คน พร้อมเปิดตัว ‘แต้ว-ณฐพร’ ในฐานะทูตโครงการ
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA โดยนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน ร่วมกับนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย ในฐานะเจ้าของและผู้ดูแลโครงการ โดย TTA เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในโครงการดังกล่าว
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ TTA ตัดสินใจร่วมเป็นภาคีกับมูลนิธิรักษ์ไทย โดยให้การสนับสนุนทางด้านเงินทุนแก่โครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน ประการแรก มาจากการที่มูลนิธิรักษ์ไทยเป็นมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไรและยังเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การแคร์นานาชาติ (CARE International) ประการที่สอง ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ที่ประเทศไทยเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่นที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรังแกกันในโรงเรียน โดยที่สังคมไทยยังไม่เห็นว่า การรังแกกันในโรงเรียนของเด็กๆ เป็นปัญหาใหญ่ ครูและผู้ปกครองยังมองไม่เห็นผลกระทบที่มีต่อตัวเด็กในอนาคตที่เกิดจากการรังแกกัน
“ปรัชญาในการทำธุรกิจของ TTA คือการสร้างความยั่งยืนระยะยาวให้กับธุรกิจที่ทำ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ส่วนปรัชญาความรับผิดชอบต่อสังคม คือ ต้องนำกำไรที่ได้กลับมาตอบแทนแก่สังคมที่เราอาศัยอยู่ด้วย เราอยากเห็นเด็กๆ มีความสุขกับการไปโรงเรียนโดยที่ไม่ต้องกลัวกับการถูกรังแก เพราะคนที่ถูกรังแก จะไม่อยากไปโรงเรียน และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนคนที่รังแกคนอื่น ก็จะชินกับการละเมิดกฏมากขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นอันธพาลและใช้ความรุนแรงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรังแกกันหรือการถูกรังแก ก็ล้วนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนทั้งสิ้น” นายเฉลิมชัยกล่าว
นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวถึงตัวโครงการกล้าทำดีว่า “โครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกในโรงเรียน เป็นโครงการทางด้านการศึกษาที่ต่อยอดมาจากโครงการ 84 โรงเรียนทำดีถวายในหลวง เนื่องจากรักษ์ไทยได้เจอประเด็นปัญหาเรื่องการรังแกกันของเด็กๆ ในโรงเรียนต่างๆ จึงได้พัฒนาจนมาเป็นโครงการกล้าทำดี ในส่วนความหมายของการรังแกก็คือ การทำร้ายกันทางกาย วาจา ใจ และทำซ้ำๆ กับคนที่เป็นเหยื่อ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตของเด็กๆ ปัญหาเด็กรังแกกันมีผลกระทบเชิงลึกกับเด็ก และยังไปลดศักยภาพในตัวเด็กอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายของตัวโครงการกล้าทำดีจะเน้นไปในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กแต่ละกลุ่ม เพื่อลดอัตราการรังแกและยุติความรุนแรงในโรงเรียน ทำให้เด็กที่ถูกรังแกสามารถปกป้องตัวเองได้ ปรับเปลี่ยนเด็กที่รังแกผู้อื่นให้เลิกพฤติกรรมการรังแก และเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น เข้าใจสิทธิและความเท่าเทียมกัน ที่สำคัญจำเป็นต้องปรับทัศนคติของเด็กกลุ่มนี้ให้อยู่ร่วมกันได้ โดยที่ไม่ไปกีดกันเด็กอื่น เด็กอีกกลุ่มที่ทางโครงการให้ความสนใจคือกลุ่มกองเชียร์ จุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้คือ ให้เด็กๆ เปลี่ยนจากการเป็นกองเชียร์ และเอาแต่ดู ให้เป็นคนที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ไม่เพิกเฉย มีความรับผิดชอบ เรื่องการรังแก มีภาวะผู้นำและมีจิตสาธารณะ เพราะการรังแก เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มศักยภาพของเด็ก และปัญหาอื่นๆที่ตามมา” นายพร้อมบุญกล่าว
“พฤติกรรมการรังแกกันของทุกภูมิภาค จะอยู่ในรูปของการทำร้ายด้วยวาจามากที่สุด เช่น ล้อเลียนให้อับอาย แสดงความเหยียดหยามดูถูกเชื้อชาติหรือผิวพรรณ ยกเว้นในภาคตะวันออก รองลงมา คือ การรังแกด้วยการแย่งเงินและของใช้ รวมทั้งการข่มขู่บังคับ ซึ่งนักเรียนชายจะมีพฤติกรรมการรังแกใน 2 เรื่องนี้มากกว่านักเรียนหญิง” เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าว
พื้นที่ในการปฏิบัติงานโครงการกล้าทำดี จะมีโรงเรียนทั้งหมด 61 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากทุกภาคของประเทศซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 9 จังหวัด โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่เกิน 60-100 คน ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความยากจนทุรกันดาร เช่น โรงเรียนบนพื้นที่ป่าต้นน้ำทางภาคเหนือ โรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนบริเวณตะเข็บชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในปี 2560 คาดว่าจะมีเด็กเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนถึง 1860 คน
“มูลนิธิรักษ์ไทย ต้องขอขอบคุณ TTA ที่เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการรังแกกันเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข และปลูกฝัง ความคิดดีๆและความเป็นจิตอาสาให้กับเด็กๆตั้งแต่ในช่วงอายุนี้ จึงได้ให้การสนุบสนุนโครงการกล้าทำดี ให้ดำเนินการได้ นอกจากนั้นยังใส่ใจให้ผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในอนาคตทาง TTA ก็ยังมีแผนที่จะช่วยอบรมความรู้ที่ทางบริษัทมีความชำนาญให้เป็นวิทยาทานแก่เด็กๆอีกด้วย สำหรับพวกเรารู้สึกขอบคุณแทนเด็กๆด้วยครับ การให้คือการสือสารที่ดีที่สุดครับ” นายพร้อมบุญกล่าวพร้อมกันนี้ โครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน ยังได้รับเกียรติจากศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่าง “แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์” มารับหน้าที่ทูตโครงการกล้าทำดี (Angel) อีกด้วย ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น และเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์จากทั้งบทบาทการแสดงและจากชีวิตจริงของนักแสดงสาวมากความสามารถคนนี้ จะมีส่วนช่วยและมีประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กๆ ทุกกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น
ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการกล้าทำดี ยุติการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียนของมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้การสนับสนุนของ TTA มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การมุ่งปรับพฤติกรรมของเด็ก ทั้งที่ถูกรังแกหรือไปรังแกคนอื่น ตลอดจนเด็กที่สนับสนุนหรือเพิกเฉยเมื่อเห็นการรังแกกัน การสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่เป็นมิตรแก่เด็กทุกคน และปลอดการรังแก เราวางความไว้วางใจให้กับมูลนิธิรักษ์ไทย เพราะเชื่อมั่นว่า มูลนิธิมีประสบการณ์ รู้จริงในเรื่องที่ทำ และมีความสามารถที่จะดึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมโครงการได้ โดยที่ TTA จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทางมูลนิธิฯ เมื่อเวลาและโอกาสอำนวย ซึ่งเชื่อมั่นว่า พนักงานของ TTA จะมีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมกับมูลนิธิรักษ์ไทย และก้าวไปสู่ความสำเร็จในการทำโครงการนี้ร่วมกัน